ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าว ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดและไม่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือมีเจตนาพิเศษให้บุคคลใดต้องได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

โดยให้ข้อมูลว่า มูลเหตุในคดีสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงาน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการรับชมรายการของช่องโทรทัศน์ดิจิตอลผ่าน Internet TV Box และแอพพลิเคชั่น True ID ที่มีโฆษณาคั่นเวลาขณะเปลี่ยนช่องรายการซึ่งทำให้ผู้ชมได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกส่งมาให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ที่มีตนเป็นประธานพิจารณาและให้ความเห็นตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯในกรณีนี้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ กสทช. มอบหมายและถูกต้องตามขั้นตอนดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ทุกประการ

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การให้บริการที่มีการนำเอา “ช่องรายการโทรทัศน์ดิจิตอลของผู้รับใบอนุญาตทั้งช่อง” ไปเผยแพร่ผ่านทางบริการ True ID นั้นอาจขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (23) และเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิตอล ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตตามประกาศดังกล่าว ต้องเผยแพร่ช่องรายการของตนเองผ่านทางผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายจาก กสทช. เท่านั้น และยังอาจขัดต่อประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการช่องรายการ และผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ (pass through) ด้วย

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นอย่างรอบด้านโดยอิสระก่อนจะมีมติให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ดิจิตอลปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เนื่องจาก True ID ยังมิได้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายประเภท IPTV จากกสทช. ซึ่งจะทำให้ได้รับสิทธิตามประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณของช่องรายการทีวีดิจิตอลไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ นอกจากนี้ ยังมีมติให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีการให้บริการในลักษณะเดียวกับ True ID อีกหรือไม่  ซึ่งภายหลังก็ได้มีการออกหนังสือในรูปแบบเดียวกันไปยังผู้ประกอบการอีกรายที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน ทางสำนักงาน กสทช. จึงไม่ได้เลือกปฏิบัติกับโจทก์

“การทำหน้าที่ของตน และคณะอนุกรรมการฯ ข้างต้น มุ่งหมายหาแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคตามที่มีข้อร้องเรียน และประสงค์ให้มีการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย รวมถึงต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการตรวจสอบและตระหนักถึงการป้องกันตนเองมิให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในเนื้อหารายการ การพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงการให้ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กสทช. คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจสั่งการแต่อย่างใด การที่สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งเวียนผู้รับใบอนุญาตช่องรายการให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช.” ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าว

ในส่วนของการถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว กสทช. พิรงรองคิดว่าทางโจทก์คือบริษัท ทรูดิจิทัล อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเจตนาของตนจากข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งตนก็พร้อมชี้แจงในขั้นตอนของการไต่สวนคดี และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการทำหน้าที่ต่อไป

“แม้จะมีอุปสรรคในการทำงาน ตนก็ยังมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนดำเนินงานนโยบายด้านกิจการโทรทัศน์ที่สำคัญหลายประการ เช่น การออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ต และการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริม National Streaming Platform ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญสำหรับเอื้ออำนวยให้ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การอนุญาตประกอบกิจการในระยะต่อไป ตลอดจนการออกประกาศหลักเกณฑ์ส่งเสริมโทรทัศน์ชุมชน และการส่งเสริมการรวมกลุ่มขององค์กรสื่อและนักวิชาชีพสื่อเพื่อสร้างระบบการกำกับดูแลกันเองบนมาตรฐานจริยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าว