นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย เปิดเผยถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่จะเริ่มเติมเงินให้ประชาชน คนละ 10,000 บาท รวม 50 ล้านคนในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ว่า เดิมรัฐบาลตั้งใจจะให้ Digital Wallet เกิดขึ้นช่วงเดือน พ.ค.ปีนี้ แต่ก็มีความห่วงใยเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ทำให้ต้องทบทวนให้รัดกุมมากขึ้นและขยับแผนใหม่ ตามที่รัฐบาลได้แถลงมาเมื่อวานนี้ โดยหอการค้าฯ ก็มี 3 ประเด็นใหญ่ๆ ที่อยากจะให้ข้อสังเกตดังนี้

1. จากการดำเนินการของ Digital Wallet ที่จะเลื่อนไปเป็นไตรมาสที่ 4 นั้น ทางหอการค้าฯ มองว่า “จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าไป” ซึ่งหากเป็นไปได้ อยากจะให้เร่งจัดสรรงบประมาณปี 67 โดยจัดสรรให้ “เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนก่อน” แล้วค่อยให้กลุ่มที่เดือดร้อนน้อยที่เหลือตามมาทีหลังในระยะต่อไป ก็จะช่วยเร่งการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยได้มากกว่าที่รอไปในไตรมาส 4

2. สำหรับประเด็น การจัดทำ App ใหม่ (Super App) ส่วนนี้หอการค้าฯ เคยเสนอเรื่องการใช้ App เป๋าตัง เพราะประชาชนคุ้นเคย และได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถเข้าถึงประชาชนได้ และทำได้เร็ว ตามที่แจ้งไปในประเด็นแรกว่า มีกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อน หากนำ app เป๋าตัง มาใช้แทนที่จะทำใหม่ ก็จะทำให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น การที่นำ super app มาใช้จะทำให้เกิดความยุ่งยากกับประชาชน และอาจจะเกิดความล่าช้า เพราะต้องไปทั้งเขียนและทดสอบระบบใหม่

3. ประเด็นเงินหมุนเวียนในจังหวัด ที่ต้องใช้ร้านค้าที่ลงทะเบียน อยากให้รัฐบาลเปิดโอกาส และมีมาตรการจูงใจให้ร้านค้าที่ยังไม่เข้าระบบภาษี ได้เข้ามาเป็นทางเลือกให้ประชาชน ที่ต้องการส่งเสริมร้านค้าท้องถิ่น และร้านค้าที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในจังหวัด หากร้านค้ากลุ่มนี้ได้เข้าสู่ระบบ digital wallet โดยสะดวกใจ (เพราะกลุ่มนี้อาจจะกังวลเรื่องภาษี) ก็จะทำให้โครงการนี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วย SMEs และเกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็ว

“สรุปโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จและมีความสัมฤทธิผลมาก ได้อยู่ที่ดำเนินการได้เร็วเท่าไรยิ่งดี และการใช้เงินในพื้นที่ จะเกิดเงินหมุนเวียนเร็วและหลายรอบ รอบแรก น่าจะใช้หมดภายใน 3-6 เดือน และรอบต่อไปจะหมุนเวียนในพื้นที่ ดังนั้นหากดำเนินการช้า แทนที่จะได้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจ มากถึง 1.5-2% ในปีนี้ อาจจะเหลือแค่เพิ่มเพียง 0.5% หากไปดำเนินการในไตรมาส 4 ในส่วนนี้เพื่อให้รัฐบาลได้ใช้เงินภาษี เงินงบประมาณของรัฐให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส และตรงวัตถุประสงค์ด้วย”

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เอกชนเห็นถึงความตั้งใจดีของรัฐบาล แต่การสื่อสารให้ชัดเจน ในทิศทางเดียวกัน ยังเป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องเน้นสื่อสารให้ชัดเจนทั่วถึง โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจกับประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนั้นเสนอให้มีช่องทางที่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถร้องเรียน หรือแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น จะช่วยให้โครงการนี้สัมฤทธิผลได้มากขึ้น