ปัญหา “ช้างป่า” รุกออกนอกแนวป่าสู่พื้นที่ของชุมชนทำความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน มีให้เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวป่ารอยต่อกัยเขตกับชุมชนและพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร ด้วยพื้นที่ป่าที่ลดน้อยลง หรือเกิดความทรุดโทรม รวมถึงเมืองที่ขยายตัว ชาวบ้านเกษตรกรขยายหาที่ทำเกษตรกรรม

ทำให้แหล่งหากินของช้างป่าก็ลดลง จนเกิดการบุกรุกมายังพื้นที่อาศัยและเกษตรกรรมของชาวบ้าน เพื่อหาอาหาร ประทังชีวิตของตัวเอง จนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “คนกับช้าง” หรือ Human-Elephant Conflict (HEC) 

คงไม่สามารถบอกได้ว่า คน หรือ ช้าง ฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แต่การหาวิธีลดปัญหาดังกล่าว ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น

คอลลัมน์ “ชีวิตติด TECH” จะพามาดูการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G, 4G และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ลดการสูญเสีย ของคนและช้างป่า เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหา ความขัดแย้ง “คนกับช้าง” เนื่องในวัน “ช้างไทย” ที่ตรงกับ วันที่ 13 มี.ค. ของทุกปี!!

โดยโครงการนี้ชื่อว่า โครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant Smart Early Warning System) ซึ่งทาง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) โดยโครงการนี้ได้นำร่องในพื้นที่รอบเขต อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาตั้งแต่ปี 61

เปิดข้อมูลช้างป่าในไทย

จากข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า ในปี 65 ที่ผ่านมา ไทยมีช้างป่า ประมาณ 4,000 ตัว กระจายอยู่ใน 69 พื้นที่อนุรักษ์ แบ่งเป็น 38 พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และ 31 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยพบว่ามี 49 พื้นที่ ที่เจอปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ และจากข้อมูลย้อนหลังช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ จนส่งผลกระทบทำให้มีผู้บาดเจ็บ 116 คน และผู้เสียชีวิต 135 คน ถือเป็นสถิติที่สูงจนน่าตกใจไม่น้อย!

โดยพื้นที่ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอย่างรุนแรง และต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่น พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดทางภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และสระแก้ว พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

เทคโนโลยีช่วยลดปัญหาได้ 

“ประพาฬพงษ์ มากนวล” หัวหน้าฝ่ายทรูปลูกปัญญา และ “วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย” หัวหน้าศูนย์นวัตกรรม ของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ทรู ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยี สื่อสาร 5G, 4G และระบบ IoT และ AI มาพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า พร้อมจัดสร้างศูนย์เฝ้าระวังช้างป่า เพื่อช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

โดยจุดเริ่มต้น คือการวิเคราะห์โจทย์ในการนำเทคโนโลยีมาออกแบบ โดยคิดจาก 4 แกนหลักที่ผสานรวมกัน คือ 1. เรียลไทม์ (Realtime) 2. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 3. โซลูชันเครือข่ายและพื้นที่ครอบคลุม 5G (Network Solution & 5G coverage) 4. อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things)

“ใจกลางของปัญหา คือ เราไม่รู้ช้างอยู่ไหน จะบุกมาเมื่อไร หรือรู้แต่ก็สายไปแล้ว ทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นเทคโนโลยีการสื่อสารที่ระบุพิกัดและแจ้งเหตุแบบเรียลไทม์จึงสำคัญมาก โดยได้นำจุดแข็งของทรู มาออกแบบจากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ร่วมกับกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า หรือ Camera Trap ทำงานร่วมกัน รวมถึงช่วยวิเคราะห์ภาพ เพื่อระบุภาพช้างได้แม่นยำขึ้น”

ประพาฬพงษ์ มากนวล

ระบบทำงานแม่นยำ

สำหรับขั้นตอนการทำงานของระบบเตือนภัยล่วงหน้านั้น ตัวกล้องจะตรวจจับความเคลื่อนไหว มีการติดตั้ง SIM เพื่อส่งสัญญาณ 5G ผ่านเครือข่ายของทรูไปยังระบบ Cloud และใช้แอปพลิเคชัน คชานุรักษ์ (Kajanurak) ที่นำเทคโนโลยี AI วิเคราะห์รูปร่างของช้าง ทำให้ระบบมีความแม่นยำมากขึ้น โดยกล้องสามารถจับภาพเคลื่อนไหวได้ทุกประเภท เช่น คน สัตว์ป่าอื่นๆ 

ในจุดนี้ AI จะช่วยคัดกรองก่อนแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ก็จะทำการส่งข้อมูลพิกัดพบช้างต่อไปยังหน่วยผลักดันช้าง หรือตัวแทนหมู่บ้านที่ทำหน้าที่ผลักดันช้างผ่านแอปพลิเคชัน คชานุรักษ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำการเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความขัดแย้ง และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างคนกับช้างป่า

ขยายผลเฝ้าระวังพื้นที่วิกฤติ

ผู้บริหารของทรู บอกว่า จากความสำเร็จในพื้นที่นำร่อง ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ก็จะมีการขยายผลและนำไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งค่อนข้างวิกฤติ เช่น พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ภายใต้โครงการคชานุรักษ์ โดยได้ดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งหมด 36 จุด เพิ่มและปรับปรุงเสาสัญญาณ เพื่อรองรับระบบสื่อสารให้ครอบคลุมมากขึ้น จัดสร้างศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่า ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน เฝ้าระวังช้างป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และชุมชนใน 5 จังหวัด ที่เผชิญปัญหาความขัดแย้งกับช้างป่ามาอย่างต่อเนื่อง  

วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับระบบ Smart Early Warning เพื่อช่วยในการคัดกรองไฟล์ภาพช้าง แก้ปัญหาข้อจำกัดของ data storage ในระบบเมลเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงเป็นการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของช้างแต่ละตัวซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพ ในการเตือนภัยมากยิ่งขึ้นด้วย

ลดความสูญเสียได้มาก

จากรายงานผลการดำเนินของระบบดังกล่าว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ในปี 66 ที่ผ่านมา พบการบุกรุกของช้างป่า 1,104 ครั้ง พืชผลได้รับความเสียหายเพียง 4 ครั้ง และการบุกรุกได้เกิดความเสียหายเพียง 0.39% โดยระบบสามารถช่วยป้องกันความเสียหายได้ดีขึ้นเมื่อเทียบจากปี 65 จากสถิติที่ระบบแจ้งเตือน พบว่าสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถผลักดันช้างให้กลับเข้าป่าพร้อมลดความเสียหายได้เกือบ 100%

อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา โครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ได้รับรางวัลในฐานะสิ่งประดิษฐ์และผลงานนวัตกรรมระดับโลกจากหน่วยงานทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่ง ในการช่วยลดความขัดแย้ง ระหว่างคนกับช้างป่า ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ถือเป็นประโยชน์กับสังคมอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดถือเป็นการแก้ปัญหาในเบื้องต้น หากจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืน ต้องเร่งอนุรักษ์พื้นที่ป่าให้ได้อย่างแท้จริง รวมถึงพัฒนาแหล่งอาหารแหล่งน้ำและแหล่งที่อยู่อาศัย ตามธรรมชาติที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ พร้อมพัฒนาพื้นที่แนวกันชน และให้ความรู้กับคนในชุมชนให่กิดความเข้าใจ

เพื่อจัดการพื้นที่ให้ “คนและช้างป่า” อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ไม่เกิดความสูญเสียของทั้งสองฝั่ง!!

Cyber Daily