เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย จ.เชียงราย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ประชุมนโยบายการศึกษาให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่ และหน่วยงานการศึกษาสังกัดองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร (ครม.) นอกสถานที่พื้นที่ภาคเหนือ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ตนได้มอบนโยบายด้านเรียนดีมีความสุข เพื่อให้เกิดการรับรู้และขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะต้องทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนและอยู่ในสังคมนี้ได้ โดยตนได้ย้ำข้อสั่งการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่จังหวัดในภาคเหนือมีปัญหาเรื่องหมอกควัน และการเผาป่าจนทำให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ดังนั้นอยากย้ำให้หน่วยงานการศึกษาได้ช่วยกันใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น รวมถึงสร้างการรับรู้ให้เด็กสนใจรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนการหานวัตกรรมฝีมือนักศึกษาอาชีวะ เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาฝุ่นพิษนั้น ตนมองว่าอยากให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย จ.เชียงราย ได้เข้าไปให้ความรู้ใหม่ๆ กับชาวบ้านถึงความเชื่อเรื่องการเผาป่า และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมวิธีการจัดการป่าและการปลูกพืชที่ถูกต้อง

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จากการรับฟังรายงานการศึกษาในพื้นที่ยังพบอีกว่า จ.น่าน แพร่ และพะเยา มีคะแนนการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ตสูงมีมาตรฐานหากเทียบกับพื้นที่อื่น ขณะที่ จ.เชียงราย มีคะแนนโอเน็ตต่ำ ซึ่งในส่วนจังหวัดที่มีคะแนนโอเน็ตต่ำเราคงต้องไปวิเคราะห์ว่าสาเหตุมาจากสิ่งใด เพื่อวางแผนขยับคะแนนให้ดีขึ้นในการสอบรอบถัดไป สำหรับการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพของพื้นที่ภาคเหนือที่พบว่า เมื่อเด็กจบการศึกษาชั้นม.3 หันมาเรียนต่อสายอาชีพได้ในสัดส่วนที่น้อยมากนั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องดีมานด์ซัพพลาย ซึ่งอาชีวศึกษาจะต้องหันมาจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนเรียนแล้วมีรายได้ให้มากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ

ด้านนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ให้ดูแลรับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอย้ำว่า ขณะนี้ ศธ.ขับเคลื่อนนโยบายเรียนดีมีความสุข โดยเฉพาะการลดภาระครูและนักเรียน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องว่าแต่ละหน่วยงานมีการลดภาระครูไปมากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องใดที่ล้าสมัยและมีข้อจำกัดทางกฎหมาย เราจะดำเนินการปรับแก้ไขให้ ขณะเดียวกันนโยบายใดที่ออกมาจากส่วนกลาง ขอยืนยันว่าทุกเรื่องจะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ครูอย่างแน่นอน เพราะเราต้องการให้ครูได้มีเวลาจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนอยู่กับเด็กอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ รมว.ศธ.ยังมีความต้องการที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่ครูมากขึ้นด้วยการทำผลงานวิทยฐานะที่ลดขั้นตอนและมีความสะดวกในการจัดทำลดความซ้ำซ้อน ส่วนเรื่องอาหารกลางวันนักเรียน ขณะนี้ได้จัดทำคำของบประมาณ เพื่อขอเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนสำหรับโครงการอาหารกลางวันในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้เด็กเข้าถึงอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ซึ่งในประเด็นอาหารกลางวันนั้นหากเป็นไปได้อยากให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำอาหารกลางวันนักเรียน โดยเฉพาะการคิดเมนูอาหารและจัดปรุงอาหารแบบพร้อมรับประทานจัดส่งไปให้โรงเรียน ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยลดภาระงานครูในด้านการทำโภชนาการนักเรียนด้วย อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่า รมว.ศึกษาธิการ ไม่ใช่รัฐมนตรีที่โลกลืม แต่ขอให้เป็นรัฐมนตรีที่ครูจะต้องไม่ลืม.