เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่รัฐสภา เวลา 09.30 น.  มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2  ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่สอง เรียงตามรายมาตรา จำนวน 41 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นวันที่ 2 โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ประธานในที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกหารือ ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ปัญหาภัยแล้ง การจราจรติดขัด หลังฝนตกน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.  

จากนั้นเข้าสู่วาระการประชุมงบประมาณ ที่ กมธ.งบฯ 67 พิจารณาเสร็จแล้ว ต่อจากการประชุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ในมาตรา 16 งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่คณะกรรมาธิการฯ ปรับลดงบประมาณเหลือ 5,347,054,800 บาท จากเดิมที่เสนอมา 5,419,139,300 บาท

โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า ตนขอสงวนความเห็นและขออภิปรายเพื่อปรับลดหรือตัดทอนรายจ่ายของกระทรวงดิจิทัลฯ จำนวน 5,419,139,300  ล้านบาทเศษลง 596.1  ล้านบาท  รวม 13 รายการ  เนื่องจากมีข่าวว่า สตง.ตรวจสอบพบการทุจริตในหลายโครงการของกระทรวงนี้ และงบประมาณก็คงออกได้เพียงครึ่งหนึ่ง จึงขอให้ดูผลสอบของ สตง.ด้วย  

นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ตนจะเน้นในส่วนของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ถนัดในเรื่องลมฟ้าอากาศแต่เรื่องราคาในเอกสารอาจไม่แม่นเท่าไร โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ถูกปรับลดลง 72 ล้านบาท กรมอุตุฯ ถูกปรับลดลง 19 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่กรมอุตุฯ ตั้งไว้ว่าเป็นโครงการระบบตรวจวัดชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลก และวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นงบผูกพันปีงบประมาณ 67-68 รวมมูลค่า 127,223,000 บาท แบ่งเป็นงบ 67 จำนวน 19,083,500 บาท งบ 68 จำนวน 108,139,500 บาท  ซึ่งปัญหา PM 2.5 ไม่ได้มีแค่ กทม.และภาคเหนือ แต่แพร่ไปทั่วประเทศแล้ว โดยโครงการนี้จะจัดซื้อเครื่อง LIDAR PDL ซึ่งเป็นเครื่องยิงเลเซอร์ตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ เพื่อเก็บสถิติและใช้พยากรณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในแต่ละวัน

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า แต่รายละเอียดเหล่านี้ไม่มีการชี้แจงใดๆ จากกรมอุตุฯ เลย ตนได้ข้อมูลจากเพื่อนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่กระซิบบอกให้จับตาดูโครงการนี้เพราะราคาดูแปลกๆ ซึ่งการพิจารณาในวาระ 1 ตนได้สอบถามกับกรมอุตุฯ  โดยมี 3 บริษัทที่เสนอราคามา ยกตัวอย่าง 1 บริษัท เสนอราคาเครื่อง LIDAR PDL  2 เครื่องในราคาเครื่องละ 18 ล้านบาท แต่กรมอุตุฯ ไม่รู้ว่าประเทศไทยเคยมีเครื่องนี้แล้วในราคาเครื่องละ 5 ล้านบาท และพังไปแล้ว ซึ่งเมื่อมันพังทางบริษัทซัพพลายเออร์เสนอซ่อมเครื่องละ  2 ล้านบาท แต่เครื่องดังกล่าวกลับถูกทิ้งไว้เฉยๆ อีกสิ่งที่กรมอุตุฯ ไม่รู้คือนักวิทยาศาสตร์ไทยกำลังผลิตเครื่องนี้ใช้เองในราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท สุดท้ายไม่รู้อะไรดลใจกรมอุตุฯ ให้ตัดงบในโครงการนี้ 19 ล้านบาท ทิ้งไป  ซึ่งตนเห็นด้วย เพราะชี้แจงไม่ชัดเจน ราคาเสนอมาแพงเกินจริง และไม่รู้ว่าคนไทยผลิตใช้เองได้  

นายณัฐพล กล่าวว่า ตนอยากฝากไว้ทั้งกรมอุตุฯ และกรมที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 หากท่านจะตั้งงบซื้อเครื่อง LIDAR PDL ในอนาคตขอให้ทราบว่าสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ สามารถผลิตใช้ได้เองแล้ว ต้นทุนไม่ถึง 1 ล้านบาท และมาพร้อมกับโมเดลการวิเคราะห์เก็บข้อมูลต่างๆ ที่นักวิจัยไทยเขียนไว้ทั้งหมด ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะใช้ในประเทศไทย

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับ กมธ.งบฯ เสียงข้างมาก ก่อนเข้าสู่การพิจารณามาตรา 17 งบประมาณกระทรวงทรัพยากรฯ ต่อไป.