เมื่อวันที่ 21 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายครั้งที่ 1/2567 ภายหลัง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กรมการแพทย์ รวมถึงนักวิชาการด้านกฎหมาย, สภาทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมรับฟังการรายงานผลการบังคับใช้กฎหมาย

จาก 5 วาระในการประชุมที่ประกอบด้วย การพิจารณาปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน และพิจารณาร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ….. , การยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย, ความคืบหน้าของการดำเนินการ รวมถึงผลการจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปีการบังคับ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นต้น

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การอุ้มหายและการทรมาน กับการค้ามนุษย์ มีความทับซ้อนในพฤติกรรมของขบวนการกระทำความผิดต่อมนุษย์เช่นกัน พร้อมมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการศึกษา วิจัย เพิ่มเติมเพื่อให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีส่วนส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีการรายงานถึงประเด็นการควบคุมตัว ด้วยการใช้คำว่า “การเชิญตัว” อันเป็นการหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ถูกเชิญตัวกลับไม่สามารถปฏิเสธ หรือกรณีผู้สูญหายที่มีพยานชี้การพบเห็นในต่างประเทศ

ทั้งนี้ รมว.ยุติธรรมได้เสนอต่อคณะกรรมการฯ ให้ครั้งถัดไปของการประชุม ควรมีการเชิญหน่วยงานนอกกระทรวงยุติธรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ พร้อมกับการลงพื้นที่เพื่อกระตุ้นการตื่นรู้ของประชาชน และความตระหนักรู้ กับการสร้างความเข้าใจที่ดีแก่หน่วยงานนอกกระทรวงยุติธรรม ที่จะปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วย