เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่รัฐสภา เวลา 19.30 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา  รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่1   ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่สอง เรียงตามรายมาตรา จำนวน 41 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นวันที่ 2

โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณามาตรา 21 งบประมาณกระทรวงยุติธรรมจำนวน 13,326 ล้านบาท ซึ่งกมธ.ขอปรับลดลง 107 ล้านบาท โดยน.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กทม.พรรคก้าวไกล อภิปรายแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ในส่วนงบประมาณสำนักงานศาลยุติธรรม จำนวน 6,973 กว่าล้านบาท  ซึ่งเกี่ยวกับการจัดสร้างบ้านพักผู้พิพากษาและรถประจำตำแหน่งของข้าราชการตุลาการ โดยในส่วนนี้เป็นค่าเช่ารถยนต์ประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ 41 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นค่าเช่ารถระดับ D Segment ชั้นต้น 3 หมื่นบาทต่อเดือน รวมเป็น  3.6 แสนบาทต่อปี ซึ่งสามารถเช่าได้ 112 คัน  แม้ว่าอาชีพตุลาการจะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ แต่ในความเห็นตนทุกอาชีพมีเกียรติเท่าเทียมกัน จึงตั้งคำถามว่าทำไมต้องจัดงบอุดหนุนในส่วนนี้เป็นการเฉพาะ

ขณะที่น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบประมาณกรมราชทัณฑ์ปี 67 ไม่ตอบโจทย์การคืนคนดีสู่สังคมว่า มีงบประมาณในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขังคืนสู่สังคมใน 2 โครงการ หลักสูตรแรกเป็นหลักสูตรทั่วไป ตั้งงบไว้ 12 ล้านบาทเศษ หลักสูตรที่สองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งงบไว้ 13 ล้านบาทเศษ รวมเป็น 25 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของทั้ง 2 หลักสูตร หลักสูตรแรกตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ 4-5 หมื่นคน พื้นที่ดำเนินการ 137 เรือนจำทั่วประเทศ ขณะที่หลักสูตรที่สองตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ 2,200 คน พื้นที่ดำเนินการ 11 แห่ง  จะเห็นว่าหลักสูตรแรกใช้เงินน้อยกว่าแต่กลุ่มเป้าหมายมีจำนวนมากกว่า ขณะที่หลักสูตรที่สองใช้เงินมากกว่าแต่กลุ่มเป้าหมายน้อยกว่าหลายสิบเท่า ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวใช้เงินมหาศาล  แต่ไม่ได้ช่วยเตรียมความพร้อมของผู้ต้องและไม่สอดรับกับตลาดแรงงาน ไม่คำนึงถึงศักยภาพและความต้องการของผู้ต้องขัง ตนสงสัยว่าผู้ตั้งขังที่ถูกปล่อยตัวทุกคนต้องออกมาเป็นเกษตรกร และมีที่ดินที่ของตัวเองที่ในการทำเกษตรหลังพ้นโทษหรือไม่  

น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า การที่ผู้ต้องขังพ้นโทษออกไปแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้จริงก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำความผิดซ้ำ จากสถิติของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 66 รายงานว่าในจำนวนนักโทษ 216,138 ราย มีการทำผิดซ้ำ 94,323 คน คิดเป็น 44 % ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนๆ หน้านี้เลย โดยมีผู้ตั้งขัง 10,827 คน หรือ 9% ทำผิดซ้ำภายปีเดียวกันนั้นเอง สะท้อนว่าโครงการของกรมราชทัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้

ขณะที่น.ส.วรรณิดา นพสิทธิ์ สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงการตั้งเป้าหมายจำนวนนักโทษสูงเกินจริงแต่งบประมาณไม่เคยเพียงพอต่อต้นทุนการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งในปี 67 มีการประเมินจำนวนนักโทษอยู่ที่ 2.7 แสนคน แต่จำนวนนักโทษจริงอยู่ที่ 2.8 แสนคน ทุกรัฐบาลที่ผ่านตั้งเป้าหมายนักโทษสูง แต่งบไม่เคยเพียงพอ และไม่ควรให้เกิดปัญหาซ้ำซากเช่นนี้อีก ส่วนที่ควรเพิ่มกลับไม่ได้งบประมาณ เช่น ค่าอาหารที่ไม่เคยเพียงพอกับนักโทษ ขนาดค่าอาหารยังไม่พอ คุณค่าทางโภชนาการยิ่งไม่ต้องพูดถึง ในขณะที่ค่าไฟกลับเพิ่มสูงขึ้น 421 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 75 ล้านบาท ทั้งที่ปีก่อนหน้าขึ้นมาแค่ 17 ล้านบาท ในขณะที่ค่าไฟฟ้าและค่าเอฟทีลดลง หากจะอ้างว่ามีนักโทษมากขึ้น จากข้อมูลของตนนักโทษเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันทุกปี เมื่อเทียบกับสาธารณูปโภคก็เพิ่มในอัตราใกล้เคียงกัน  แต่ในปี 67 สาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นเกือบ 150 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณูปโภคอย่างไม่เหมาะสม ตนจึงขอตัดงบประมาณ 5 เปอร์เซ็น จึงไม่รู้ว่าจะมีเงินทอนในส่วนของกรมราชทัณฑ์ส่วนนี้หรือไม่

ด้านนายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีงบแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ตั้งงบไว้ 2,178,000 ล้านบาท  ซึ่งในระหว่างนี้ได้มีการใช้งบปี 66 ไปพลางก่อนราว 448,600 บาท จึงเหลือยอดอีก 1,729,400 บาท จึงถามว่ากับห้วงเวลาที่เหลือของบปี 67 จะใช้งบประมาณจำนวนนี้ทันหรือไม่

ขณะที่นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ในฐานะกมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นชี้แจงถึงการปรับลดงบรวม 107 ล้านบาทว่า กมธ.พิจารณาโดยรอบคอบโดยเฉพาะในส่วนของกรมราชทัณฑ์เพื่อนสมาชิกท้วงติงว่าค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น โดยเทียบกับงบปี 66 ที่เคยของบ 500 ล้านบาทเศษ แต่ปี 67 เพิ่มขึ้นเป็น 700 กว่าล้านบาท สะท้อนข้อเท็จจริงในต้นทุนที่สูงขึ้น จึงไม่ได้ปรับลดงบในส่วนนี้เลย

หลังจากอภิปรายครบถ้วนทุกคนแล้ว ที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบมาตรา 21 ตามที่กมธ.เสียงข้างมากเสนอ ด้วยคะแนน 272 ต่อ 151 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน.