นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นได้ในอนาคต ในปี 1992 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการอุปโภคบริโภค ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านระบบนิเวศ ด้านสังคม ตลอดจนส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่ง “น้ำ” ถือว่ามีความจำเป็นทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนด้านเกษตรสู่ความสำเร็จ หนึ่งในนั้น คือ การรับมือภัยแล้ง รวมทั้ง การป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู ภัยพิบัติทางธรรมชาติ กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีช่วยฯ นายอนุชา นาคาศัย มีภารกิจที่สำคัญในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างเหมาะสม ดินและน้ำในภาคการเกษตรมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การดูแลรักษาดินและน้ำให้มีความยั่งยืน จะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ รวมทั้งคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์ โดยในปีงบประมาณ 2567 นี้ จึงได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เพื่อหาแนวทางและมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ให้เกษตรกรมีทรัพยากรทั้งดินและน้ำที่เหมาะสมไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างยั่งยืน สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

“งานพัฒนาการบริหารจัดการดินและน้ำบนดินและใต้ดิน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นการชะลอความเร็วของน้ำ การกักเก็บตะกอน การป้องกันการสูญเสียหน้าดิน รักษาความชื้นในดิน รวมทั้งเป็นการกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาให้ไหลซึมลงใต้ดินอย่างช้าๆ ทำให้เกิดความชื้นที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งช่วยไม่ให้น้ำไหลบ่าไปกัดเซาะดินในพื้นที่ตอนล่างจนก่อให้เกิดความเสียหาย และยังเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ดังนั้น การบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีโอกาสเสี่ยงภัยแล้ง โดยผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว คือ มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้รับการบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน จำนวน 60,000 ไร่ รวมทั้ง มีการบริหารจัดการน้ำใต้ดิน 1,800 แห่ง ครอบคลุม 60 จังหวัด ภายในปีงบประมาณ 2567 เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”