เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายชนินทร ทองผา เจ้าของสวนน้ำยิ้มแย้มบ้านด่านคำ ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร ว่ามีกิ้งก่ายักษ์ พลัดหลงเข้ามาที่สวนน้ำ คาดว่าน่าจะเข้ามาหลบอากาศร้อน จึงให้ทางพนักงานช่วยกันจับไว้ ก่อนประสานเจ้าหน้าด่านตรวจสัตว์ป่ามุกดาหารเข้ามาตรวจสอบ ภายหลังพบว่าเป็น “ตะกอง” สัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ลักษณะลำตัวมีความยาวตั้งแต่จมูกถึงปลายหางประมาณ 80-90 เซนติเมตร ลำตัวสีดำ ส่วนแผงสันหลังจะหยุดไม่ต่อเนื่องกับแผงสันหาง และมีปุ่มสีขาวกระจายอยู่ที่แก้ม โครงสร้างหน้าเรียวแหลม

สำหรับ “ตะกอง” หรือ “ลั้ง” หรือ “กิ้งก่ายักษ์” (PHYSIGNATHUSCOCINCINUS) เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า ในวงศ์กิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย พบตามป่าดิบแล้งดิบชื้นใกล้แหล่งน้ำทางภาคอีสานและภาคตะวันออก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ห้ามล่า ห้ามเลี้ยง ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าได้นำตะกองตัวนี้ไปดูแลก่อน จากนั้นจะประสานต่อไปยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เพื่อรับไปดูแลรักษา ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ในส่วนของข้อแตกต่างระหว่าง ตะกอง กับ อีกัวน่าเขียว นั้น โดยในช่วงแรกเกิด ทั้งสองจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่พอโตขึ้นมาจะพบว่า ตะกอง มีความยาว 100-110 เซนติเมตร ตัวผอมเพรียวกว่า น้ำหน้กไม่เกิน 1 กิโลกรัม อีกทั้งยังมีเกล็ดสีขาวบริเวณริมฝีปากล่าง 8-10 แผ่น ไม่มีเหนียงใต้คอแต่อย่างใด ขณะที่ อีกัวน่าเขียว จะยาวถึง 120-170 เซนติเมตร ตัวอ้วนหนา หนัก 1-3 กิโลกรัม และไม่มีเกล็ดสีขาวที่ริมฝีปาก แต่มีเหนียงที่คอไว้สำหรับควบคุมอุณหภูมิร่างกาย.