เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ให้กับผู้ประสงค์จะลงสมัครรับคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ และประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือก สว. อำนาจหน้าที่ของ สว. และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยภายในงานยังมีกิจกรรมบอร์ดระดมความเห็นเรื่องข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ของผู้ประสงค์จะสมัครเป็น สว. มีการตั้งบูธพิเศษ “clinic สว.” สำหรับตรวจสอบคุณสมบัติก่อนลงสมัครจริง ทั้งนี้ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธาน กมธ. พัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า เนื่องจาก สว.ชุดปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะหมดวาระแล้วจะเข้าสู่การคัดเลือกสว.ชุดใหม่ 200 คน แต่กมธ. ต้องจัดกิจกรรมวันนี้เพราะมีข้อกังวลและข้อสังเกต 1. ระบบการเลือกสว.ที่ซับซ้อน แต่ถือว่าที่มามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าชุด 250 คนที่มาจากการเลือกของคสช. และมีอำนาจมาก อย่างการเลือกนายกรัฐมนตรี และองค์กรอิสระ 2. กระบวนการที่ออกแบบนั้นยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่สอดรับกับเป้าหมายซึ่งการได้มา ผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับในสาขาอาชีพของตัวเองมากที่สุด เพราะเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ อาจจะไม่ใช่คนที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศแต่ได้คนที่มีเครือข่ายในระดับพื้นที่ 3. กระบวนการที่ถูกออกแบบมาสุ่มเสี่ยงที่จะมีการล็อกโหวต เอื้อให้มีการระดมคนมาสมัครเพื่อเลือกคนในโพย 4. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมาไม่ได้ไขข้อสงสัย ชัดเจนในทางการปฏิบัติ การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครที่อาจมากกว่าหลักแสนคนภายใต้เวลาที่กำหนดจะทันหรือไม่ รวมถึงระเบียบเกี่ยวกับการสมัครและแนะนำตัวสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน การตั้งผู้สังเกตการณ์ได้ ท้ายสุดคือการประกาศรับรองผล หากมีข้อร้องเรียนเข้ามา แล้วจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการพิจารณาและรับรอง ไม่เช่นนั้น จะถ้าเกิดความชอบให้สว.250 คนปัจจุบันสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เรื่อยๆ

อย่างนั้นตนจึงขอสื่อสารถึงคน 4 กลุ่ม คือ  1.กกต. ออกระเบียบที่เอื้อมีส่วนร่วม อย่าปิดกั้น ควรให้ผู้สมัครมีการแสดงวิสัยทัศน์ และเปิดให้ผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปสังเกตการณ์ได้ 2.ขอชวนประชาชน เป็นหูเป็นตา ตรวจสอบให้ทุกอย่างโปร่งใส 3.คนมีคุณสมบัติครบถ้วนให้มาสมัครเยอะๆ และ 4.คนที่ถูกคัดเลือกเป็นสว.แล้ว ขอปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตระหนักว่า แม้มีอำนาจามากกว่าคนมาจากการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าหากสว.ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม เพื่อประชาธิปไตย แก้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย ตรวจสอบทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม เลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นธรรม

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องมีสว. เพราะประเทศไทยมี สส.ที่มาจากการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองเป็นผู้สนับสนุน ถือว่าเป็นการเมืองมาก ทำให้เห็นสิ่งที่พรรคตัวเองเสนอนั้นดีที่สุด จนอาจจะมองข้ามเหตุผลที่ชัดเจน  ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีสว. ซึ่งอดีตตามรัฐธรรมนูญ 2517 สว. มาจากการแต่งตั้งของจอมพลถนอม คุณสมบัติไม่ได้ห้ามว่าเป็นข้าราชการไม่ได้ ทำให้มีแม่ทัพนายกองนั่งเป็นสว.ด้วย ต่อมามีเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2535 มีการเปลี่ยนที่มาของสว. โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นนายกฯ ใจกว้างให้มีคนจากหลากหลายขึ้น มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้อำนาจในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน และในครั้งนั้นมีการติดอาวุธชิ้นหนึ่ง ให้กับสว.คืออำนาจในการแต่งตั้งองค์กรอิสระทั้งหลาย แต่ก็ต้องบอกว่า เราหลอกตัวเองว่าสว.ตั้งแต่ต้น ว่าสว.ไม่มีการเมือง เพราะไม่ให้สังกัดพรรคการดเมือง แต่ก็ไม่เห็นจริงตามนั้น เพราะองค์อิสระก็ไม่อิสระจริง คนที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเห็นว่ามีเบื้องหลังถูกพรรคการเมืองส่งเข้ามา อย่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งกำหนดให้สว.มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่งและเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่ทำให้ฟังก์ชันไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการเลือกสว. รอบนี้จึงมีความสำคัญ เพราะอำนาจที่มีอยู่เดิมที่ได้มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังอยู่โดยเฉพาะอำนาจในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายซึ่งมีอยู่หลายฉบับ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าจำเป็นจะต้องมีการทบทวนแก้ไขในบรรยากาศที่ดีขึ้นไม่ใช่การอยู่ในภาวะถูกข่มขู่จำยอม ดังนั้น ถ้าเราฝันว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีกติกาที่เป็นธรรม อยู่ในร่องในรอยที่ควรจะเป็นมากกว่าเวลานี้ การได้สว.ก็จะมีความสำคัญและเป็นหมากที่จะก้าวขึ้นบันไดต่อไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สว.จึง ควรตอบคำถามต่อสังคมได้ ว่าก็มีหน้าที่หรือความคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้ อำนาจประการที่สองคือการบริหารราชการแผ่นดิน อำนาจที่ 3 ที่มาองค์กรอิสระ ซึ่งจำนวนไม่น้อย เป็นองค์กรไม่อิสระจริงๆ ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นที่หลักตามหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง ดังนั้นอนาคตคนจะทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระอย่างมีคุณภาพได้ สว.ต้องมีคุณภาพก่อน มีความชัดเจนว่าจะเข้าไปทำอะไร ทั้งนี้ตนมองว่าจากนี้ สว.แบบแต่งตั้งน่าจะหมดอนาคตสำหรับประเทศไทยแล้ว แต่อย่าเพิ่งประมาท ส่วนสว.ที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 ตรงนี่ก็ยังไม่ปิดโอกาส แต่ต้องออกแบบกระบวนการ รูปแบบจะเป็นอย่างไร  

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสว. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2540 แม้การเลือก สว.จะมาจากคนทั้งประเทศ แต่ความคาดหวังของรัฐธรรมนูญก็คือการให้สว.ต้องเป็นอิสระจึงมีอำนาจมากเป็นพิเศษที่ไม่ใช่เพียงแค่กลั่นกรองกฎหมาย แต่ยังสามารถแต่งตั้งองค์กรอิสระและมีการถอดถอนได้ แต่จะพบว่ามีความเป็นอิสระแค่ช่วงปีแรกเท่านั้น และเริ่มมีกระบวนการแทรกแซงมากขึ้น สว.ที่เป็นอิสระ ก็อยากอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น แล้วก็มีระบบอุปถัมภ์มากขึ้นจึงมีชื่อเรียกว่าสภาผัวเมีย มีการจัดกลุ่มก้อนในระบบอุปถัมภ์มากขึ้นเพื่อที่จะใกล้ชิดกับกลุ่มที่มีอำนาจ และส่วนตัวก็เคยถูกชักชวนให้เข้ากลุ่มอำนาจด้วยเช่นกัน ช่วงของการเลือกกลุ่มองค์กรอิสระ มีกระบวนการที่พบว่า มีข้อพิรุธมากมายและมีการเลือกซ้ำกันค่อนข้างมาก  

สำหรับการเลือก สว.ครั้งนี้ ตนห่วงเรื่องการแบ่งกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ที่คิดว่าเป็นของดี ซึ่งการเลือกไขว้อาจจะดีเพราะกันเรื่องล็อกโหวต แต่กติกาให้เลือกกันเองในกลุ่มให้เหลือ 5 คน หากมีคนจัดตั้งก็จะกลายเป็นการได้คนกันเอง จัดเลือกไขว้แทบตายก็ได้คนกันเอง เพราะเลือกไขว้หลังเลือกกันเองเหลือ 5 คน แล้ว นี่คือจุดอ่อนที่สุด และเป็นจุดอ่อนที่มีคนวิเคราะห์ออกมาแล้ว เพียงแค่จะให้คนสมัคร คิดว่า ยอมเสียเงิน 5-10 ล้านบาท ลงขัน 200 คน ก็ได้ 2 พันล้านบาท เอามาส่งคนลงสมัครแต่ละกลุ่มอาชีพ สมมุติได้ 120-150 คน ที่เหลือก็ทำงานเหนื่อย เหมือนรุ่นของตนเป็นสว. เพราะสภา อยู่ที่เสียงยกมือ ไม่ได้อยู่ที่เหตุผล ที่ทำได้คือการตรวจสอบ และแฉ ดังนั้นตนเป็นห่วงเรื่องนี้ ว่าถ้าเจอการจัดตั้งแบบนั้นแม้จะได้ แต่ต้องไปเหนื่อยกับข้างในแล้วจะรอดหรือไม่ ดังนั้นทางออกที่มีคนคิด คือให้มีคนมาสมัครเยอะๆ เพื่อเป็นโหวตเตอร์ เพราะไม่ได้ให้ประชาชนเลือกได้ จึงกระเสือกกระสนในการเข้ามามีสิทธิเลือก แต่ต้องเสีย 2.5 พันบาท และใช้เวลานานกว่า 2 เดือนกว่าจะจบ แล้วจะมีประชาชนใจถึงกี่คน

ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสว. กล่าวว่า การจะทำให้เกิดความเป็นธรรม วิชาชีพต้องสะท้อนถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ใน 20 อาชีพนี้ ตนดูแล้วเห็นว่า มีอย่างน้อย 10 อาชีพ ที่มีการผูกขาด เช่น ข้าราชการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่ตลอดระยะเวลาที่คสช.อยู่ในอำนาจ เรียกระบบซูเปอร์รัฐราชการ คนที่อยู่ในระบบราชการแล้วลาออกเพราะหวังว่า ตรงนี้จะเป็นตัวที่ไต่เต้าได้ เขาได้วางไว้หมดแล้ว ทางการเมืองไม่ใช่เครือข่ายบ้านใหญ่ในพื้นที่อย่างเดียว แต่บ้านใหญ่ตอนนี้ไปคลุมระบบราชการแล้ว เพราะช่วยกันกิน กินทางการเมืองเป็นไปไม่ได้ หากส่วนราชการไม่กินด้วย ซึ่งตนไม่ได้กล่าวหา แต่ตอนเป็นสว. ตนอยู่ในกรรมาธิการทุจริต พบนักการเมืองไม่ได้กินฝ่ายเดียว แต่กินกับราชการด้วย ถ้าเป็นระบบผูกขาดอำนาจ และผลประโยชน์อย่างนี้ ดังนั้นสิ่งที่ท่านจะต้องเจอ เครือข่ายวิชาชีพที่ตอนนั้นเขาเตรียมกันหมดแล้ว ดังนั้นกลุ่มอาชีพต้องสะท้อนความเป็นอาชีพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ชาติพันธุ์ คนกลุ่มน้อยต่างๆ ซึ่งต้องการคนหรือกฎหมายคุ้มครอง เป็นต้น  และสุดท้ายต้องมาจากการเลือกของประชาชน ดังนั้นต้องมีการคุยกันในแต่ละกลุ่มที่เข้าไป หากไม่คุยแล้วกากันเลยไม่ไหว  

“การเลือกตั้ง พ.ค.2566 แสดงว่า สังคมเปลี่ยนแล้ว เพราะฉะนั้น ประชาชนไม่ได้โง่ เขาเลือก 2 พรรคใหญ่ พรรคหนึ่งหวังว่ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพราะบ้านเมืองยากจนมา พรรคที่สองเขาคิดว่ามีอุดมการณ์แก้ไขปัญหาโครงสร้าง ดังนั้นท่านต้องคิดแล้วว่า 24 ล้านเสียงต้องการคนมาแก้ปัญหาประเทศ ถ่าท่านจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนชื่นชม ท่านต้องอยู่ในโหวตเตอร์ที่เลือกแบบคน 24 ล้านคน เขาเชิดชูท่านว่าเข้าไปช่วยแก้ปัญหาต่อ นี่ต่างหากที่คิดว่าสังคมมันสอดรับกัน และไม่เป็นเหมือนที่อาจารย์นิธิกังวลว่าสังคมจะนองเลือดอีก หากไม่ฉกฉวยการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีแล้วเอาเสียงประชาชนมาเปลี่ยนวิธีคิด ดังนั้นต้องคุยกันว่าจะเข้าไปทำอะไร ทำอย่างไรแล้ว” นพ.นิรันดร์  กล่าว.