เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา (สว.) วาระอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงกรณีที่ถูกอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกัน ว่า ในการบริหารราชการที่มีอุดมการณ์แน่วแน่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำหน้าที่ตามหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม ซึ่งเข้าใจดีระหว่างประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม และส่วนตัวเลือกที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และระหว่างบุญคุณกับการทำตามกฎหมาย เลือกที่จะทำตามกฎหมาย ส่วนกฎหมายกับความถูกต้อง แม้อาจจะไม่ไปด้วยกัน แต่ต้องแก้ไปด้วยกัน ส่วนระบบอุปถัมภ์และระบบคุณธรรม เลือกระบบคุณธรรม และยืนยันว่าในการทำหน้าที่ ไม่เคยได้รับการสั่งการจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายและคุณธรรม และการกลับเข้ามารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม วันที่ 22 ส.ค. 66 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในยุครัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน รมว.ยุติธรรม คือ นายวิษณุ เครืองาม รวมถึง ข้าราชการประจำ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ยังเป็นชุดเดียวกัน โดยตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ ไม่ได้สั่งปรับเปลี่ยนใคร ซึ่งรู้สึกเสียใจที่ได้ยินข้อกล่าวหาดังกล่าว

“ที่นายถวิล กล่าวหาว่า ผมทำลายกระบวนการยุติธรรม ท่านคิดหรือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผมจะไปสั่งการท่านได้ ท่านนายกฯ ทักษิณ จะเข้ามาในประเทศ และต้องไปโรงพยาบาลทันที ท่านคิดหรือว่าผมจะไปสั่งการ หรือนายกฯ เศรษฐา จะไปสั่งการนายวิษณุได้ ซึ่งขณะนั้นก็ยังไม่ทราบว่า พรรคประชาชาติจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ อยากให้ความเป็นธรรมสักนิด ในการเก็บข้อเท็จจริง ผมว่าการทำลายระบบยุติธรรมคือการ ยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนเข้ารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ในวันที่ 11 ก.ย. 66 หลังจากที่นายทักษิณเข้าไปรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ พร้อมหยิบระเบียบและกฎหมายราชทัณฑ์มาชี้แจง ซึ่งได้พิจารณาและปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายอาญาของประเทศ จากเดิมใช้ทฤษฎี “แก้แค้น ทดแทน ข่มขวัญ ยับยั้ง” แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการใช้ทฤษฎี “ฟื้นฟู” ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายมาแล้ว ในราชการไม่ได้มีอำนาจแก้ไข ส่วนการกำหนดโทษเป็นอำนาจศาล แต่การบริหารโทษเป็นไปตามกฎหมายราชราชทัณฑ์ และปัจจุบันด้วยนักโทษล้นคุก กว่า 200,000 คน และได้พิจารณาว่าการไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ที่ชั้น 14 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่มีมาก่อนอยู่แล้ว และสาเหตุหนึ่งคือเรื่องของทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังไม่มีความพร้อมรองรับ อีกทั้งโรงพยาบาลก็ถือเป็นสถานที่คุมขังอื่นตามที่ระเบียบกำหนดไว้ และตามกฎหมายใหม่การคุมขังไม่ต้องอยู่ในเรือนจำ

“อดีตนายกฯ ทักษิณ ได้ถูกจำคุก แต่อยู่ในสถานที่คุมขังอื่น ซึ่งไม่ได้มีท่านคนเดียว ยังมีบุคคลอื่น จากตัวเลขที่อ้างอิง 4-5 หมื่นคน แต่กรณีที่เกิน 120 วัน ตัวเลขไม่มาก” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

รมว.ยุติธรรม ชี้แจงเรื่องการพักโทษว่า ราชทัณฑ์หรือ รมว.ยุติธรรม ไม่ได้มีอำนาจที่จะพักโทษใคร แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการพักโทษ ซึ่งมีการพิจารณาทุกเดือน เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่มีมาก่อนแล้ว และกรณีของนายทักษิณนั้น ทางผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นว่า เป็นกรณีเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุ และเหลือโทษไม่มากนัก ช่วยตัวเองได้ไม่ดีพอ ขณะเดียวกันผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เห็นด้วย และเห็นว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ควบคุมเช่นกันตามกฎหมาย และชี้แจงว่า ข้อมูลของผู้ป่วยเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งหากวุฒิสภาเห็นว่ากฎหมายมีปัญหา ก็พร้อมที่จะแก้ไข ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ระบบการคิดของเรือนจำสมัยใหม่ ไม่ได้เอาไปแก้แค้น คุกไม่ได้มีไว้ขังคนเท่านั้น มีไว้ให้ออกด้วย แต่การจะออกจากเรือนจำ ต้องมีการพัฒนาพฤตินิสัย.