ซึ่งความที่เก้าอี้ ครม. เป็นสมบัติผลัดกันชมโควตาพรรค โควตานายทุน ทำให้ความเห็นก็แตกกันออกไป บ้างก็ว่า ถึงเวลาจะต้องปรับแล้วให้คนอื่นแสดงฝีมือบ้าง (ขณะที่รัฐมนตรีบางคนยังโลกลืมอยู่) บ้างก็ว่า ยังไม่จำเป็นต้องปรับเพราะรัฐมนตรีเพิ่งเริ่มทำนโยบาย จากที่งบประมาณปี 67 เพิ่งผ่าน และจ่ายไปก่อนแค่งบประจำอย่างเงินเดือน

ที่น่าสนใจคือระดับตัวใหญ่ในเพื่อไทยอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ผู้ซึ่งเป็น “หนังหน้าไฟ” ให้พรรค ในช่วงเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาล และ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข่าวว่าจะต้องถูกปรับออกเพื่อ “ไปสนับสนุนงานสภา” โดยเฉพาะเมื่อเปิดสมัยประชุมอีกครั้ง ทั้งกฎหมายงบประมาณ ทั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรียงหน้ารออยู่

ซึ่งการที่ นพ.ชลน่าน เป็นหนังหน้าไฟนี้ มีโอกาสที่จะถูกส่งมาคุมเกมแทน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาจากพรรคประชาชาติ มันก็ชวนให้คิด..เพราะ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ ก็แย็บๆ ว่า “เราอยากได้รัฐมนตรีสัก 2 เก้าอี้ เพื่อจะได้ทำงานได้ดีขึ้น” ซึ่งตามโควตา พรรคนี้ได้แค่เก้าอี้เดียว

ทำให้ผู้สื่อข่าวไปถามนายวันมูหะมัดนอร์ ทำนองโยนหินถามทาง เพราะ พ.ต.อ.ทวี แย้มว่าพรรคต้องการเจาะพื้นที่ภาคใต้ คำถามนั้นคือ “ยอมหรือไม่หากแลกเก้าอี้ประธานสภากับรองนายกฯ คุมภาคใต้” ซึ่งทางนายวันมูหะมัดนอร์ ก็เคยแสดงท่าทีไม่ยอมไปแล้ว ว่า การเลือกประธานสภาเรื่องของ สส. ไม่ใช่นายกฯ แต่ใครจะรู้ล่ะ ว่าจะมี “ซูเปอร์ดีล” หรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ในการประชุมพรรค ทั้งรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค และพรรคประชาชาติ ต่างก็พูดถึงเรื่องของการสื่อสาร ที่จำเป็นต้องปรับปรุงทีมมาเล่นบนพื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ของ พรรค รทสช. นั้น เขาดูจะปั้นทีมมีอินฟลูเอนเซอร์นำด้วยซ้ำ เพราะปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมันง่าย

พอพูดถึงการใช้สื่อใหม่ กลุ่มผู้ใช้สื่อใหม่ก็ดูจะเบะปากใส่พรรคประชาชาติอยู่พอสมควร เนื่องจากพรรคนี้มีความเป็นอิสลามอนุรักษนิยม แต่คนใช้สื่อใหม่จะมีความเป็นเสรีนิยม ก็ดูตัวอย่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ประชาชาติแสดงจุดยืนขัดกับหลักทางศาสนา แต่คนรุ่นใหม่มองว่า “ใจแคบ ทำไมไม่คิดว่ากฎหมายต้องมีสำหรับผู้ที่ต้องการใช้”

พ.ต.อ.ทวี กับพรรคประชาชาติ ก็ดูจะเจอโจทย์ที่ท้าทายมาก เพราะภาพของพรรคคือ “พรรคที่ยึดมั่นในศาสนาอิสลาม” ซึ่งมีจารีตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมาก การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารก็ส่วนหนึ่ง แต่เนื้อหาการสื่อสารเล่า จะออกแบบอย่างไรให้มันตรงใจประชาชน อย่างน้อยก็กลุ่มเป้าหมายภาคใต้ 14 จังหวัด ตามที่หัวหน้าพรรคหวังก่อน

สำหรับพรรค รทสช. นั้น นายพีระพันธุ์ ประกาศยึดมั่น “ดีเอ็นเอลุงตู่” เป็นหลักในการขับเคลื่อนงาน ก็ติดภาพของอนุรักษนิยม และเป็นพรรคสืบทอดอำนาจ คสช. การจะใช้อินฟลูเอนเซอร์ช่วย…เอาเป็นว่าน่าจะทั้งสองพรรคนั่นแหละ ต้อง “ใส่ตะกร้าล้างน้ำ” ภาพลักษณ์ของพรรค เพราะใช้เครื่องมืออย่างไร ถ้าเนื้อหาไม่ช่วยก็จบ

ในการประชุมพรรคประชาชาติ พูดถึงการใช้สื่อของพรรคก้าวไกล ซึ่งทางนั้นเขามีข้อได้เปรียบตรงที่มีกองเชียร์ธรรมชาติ และ สส. สก. คอยสื่อสารงานลงพื้นที่ตลอดดูเข้าถึง โดยเฉพาะใน X เราเจอกองเชียร์ส้มเยอะมาก ซึ่งมักจะออกมาตีกับ “นางแบก” ซึ่งเป็นคำเรียกกองเชียร์พรรคเพื่อไทย บางเรื่องไม่แข่งกันที่ผลงาน แต่แข่งกันที่จับผิด

แต่อย่างไรมันก็ได้กระแสพรรค ถ้ามัวติดภาพอนุรักษนิยม ก็ใช้โซเชียลมีเดียได้ไม่มีประสิทธิภาพหรอก.

พิราบ บานเย็น