เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

โดยนายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนและ สส.พรรคเพื่อไทย รวม 123 คน ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256  (1) และ (2) เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ .. พ.ศ. ….  โดยหลักการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการสภา ได้มีหนังสือถึงตนว่า ประธานรัฐสภาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีหลักการในการเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 จึงมิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี  60 มาตรา 211 วรรคสี่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภา ประกอบกับประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติมเข้าระเบียบวาระการประชุมได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 63 ข้อ 119 จะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ มิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นประธานรัฐสภา จึงไม่สามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วยเหตุผล 1. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มบัญญัติหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไปเท่านั้น มิใช่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้แทนรัฐธรรมนูญ 60 แต่อย่างใด 2.การบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของตนและคณะเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 63 ข้อ 119 3. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อน เนื่องจากไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่จะบัญญัติถึงวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญที่ตนเองร่างขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ทำนองเดียวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนและคณะได้นำเสนอ ทั้งนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แม้จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังคงถือเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 256 (2) ดังนั้นการที่ประธานรัฐสภาเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของตนและคณะ มิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า 4.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงการทำประชามติเพียง 2 ครั้ง สำหรับประชามติครั้งแรก ศาลรัฐธรรมนูญระบุเพียงว่าหากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า ต้องออกเสียงประชามติก่อนบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา หรือก่อนรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด ดังนั้นการอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ปฏิเสธไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนและคณะได้นำเสนอเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เท่ากับอ้างว่าบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมไม่ได้  และรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ หากยังไม่มีการออกเสียงประชามติว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยเช่นนั้นเลย และหากถือตามความเห็นของประธานรัฐสภาจะเป็นผลให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่ตนและคณะเสนอ เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (2) ข้อบังคับการประชุมสภาปี 63 ข้อ 119 ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ทั้งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ซึ่งห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ การที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ทำให้รัฐสภาไม่สามารถใช้หน้าที่และอำนาจในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ 

“ผมในฐานะ สส. จึงขอเสนอญัตตินี้ เพื่อให้รัฐสภาได้มีมติว่ากรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาตามมาตรา 210 (2) ของรัฐธรรมนูญและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ และหากว่ารัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แล้ว การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะสามารถกระทำในขั้นตอนที่รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 แล้ว โดยสอบถามไปพร้อมกับกรณีตามมาตรา 256 (8) ได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 หากไม่ได้จะต้องสอบถามในขั้นตอนใด” นายชูศักดิ์ กล่าว.