เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนยอมรับว่าหนักใจ ที่หลายฝ่ายต้องการบรรลุเป้าหมาย ว่ารัฐสภาแห่งนี้จะต้องมาร่วมพิจารณาญัตติดังกล่าว โดยเฉพาะกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่เราทำคือการยื่นดาบให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดยกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่อาจไม่อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้กลุ่มคนดังกล่าวมาฟันธงชี้ขาดว่ารัฐสภาแห่งนี้ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ที่ผ่านมา ก็มักจะเป็นเหมือนกล่องสุ่ม ไม่เป็นคุณต่อการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากนัก

“แต่เหตุผลที่ทำให้ผมรู้สึกหนักใจมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะหากเราเดินตามหลักการประชาธิปไตย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ผมไม่คิดว่ารัฐสภาแห่งนี้จะต้องมาใช้เวลาหรือกำลังเพื่อมาพิจารณาญัตตินี้ ตั้งแต่ต้นต้นตอสาเหตุที่ทำให้เรามาพิจารณาญัตติ เพราะประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุร่างฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นเข้าไปเมื่อช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และร่างฯ ของพรรคก้าวไกล เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยอ้างว่าร่างฯ ดังกล่าว ขัดคำวินิจฉัยของศาลฯ ที่ 4/2564” นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจประธานรัฐสภา เพราะไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนไม่เห็นว่า ร่างฯของทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่มีหลักการสอดคล้องกันจะขัดกับคำวินิจฉัยศาลฯ โดยทั้ง 2 ร่างฯ มีหลักการคล้ายกัน คือแก้มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ที่จะส่งผลให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นหากทั้ง 2 ร่างฯ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาทั้ง 3 วาระ ก็จะต้องมีการจัดทำประชามติ หากผ่านประชามติจากความเห็นชอบของประชาชน ก็จะมี ส.ส.ร. มาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อ ส.ส.ร. ทำรัฐธรรมนูญฯ แล้วเสร็จ ร่างฯ ของทั้ง 2 ได้ระบุชัด ว่าจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งว่าเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับหรือไม่

“สรุปคำวินิจฉัยศาลฯ ที่ 4/64 แบบเข้าใจง่ายคือ คำวินิจฉัยดังกล่าวพูดถึงความจำเป็นในการทำประชามติ 2 ครั้ง ก่อนและหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมจึงไม่เห็นว่าร่างฯ ของทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะขัดกับคำวินิจฉัยศาลฯ ผมได้รับข้อมูลว่าที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างฯ ดังกล่าวทั้ง 2 ร่างฯ เพราะตีความคำว่าเสียก่อน หมายถึงการทำประชามติเสียก่อน จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ที่เกี่ยวกับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่รัฐสภา ผมเข้าใจว่าประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุทั้ง 2 ร่างฯ จนกว่าจะมีการทำประชามติเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ครั้ง ก่อนที่จะมีการเสนอร่างฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เข้าสู่รัฐสภา ดังนั้นถ้าเดินตามนี้ ก็จะต้องมีการทำประชามติ 3 ครั้ง” นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า เราจะหาข้อสรุปอย่างไร ในเมื่อคำวินิจฉัยศาลฯ ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าจะต้องมีการทำประชามติเพิ่มอีก 1 ครั้งก่อนเสนอร่างฯ แก้รัฐธรรมนูญ ยอมรับว่าข้อความของคำวินิจฉัยศาลฯ อาจทำให้เกิดความคลุมเครือได้ ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ไม่ยาก คือต้องไปดูคำวินิจฉันส่วนตนของตุลาการศาลฯ รายบุคคลทั้ง 9 คน เพื่อให้เข้าใจความหมายและเจตนาที่แท้จริงให้ชัดเจน แต่ตนตกใจว่ากระบวนการนี้ ประธานรัฐสภายังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากตัวแทนของคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา และประธานสภา ยอมรับกับตนว่า ศึกษาแค่คำวินิจฉัยกลาง ไม่ได้ศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนของทั้ง 9 ตุลาการศาลฯ ทั้งนี้ จากที่ตนไปสรุปคำวินิจฉัยส่วนตนของ 9 ตุลาการศาลฯ พบว่ามีถึง 5 คน ที่วินิจฉัยว่าสามารถบรรจุร่างฯ ทั้ง 2 ได้ ทำให้พออนุมานได้ว่า คำวินิจฉัยกลางที่ 4/64 กำลังบอกกับเราว่าประธานฯ สามารถบรรจุร่างฯ ทั้ง 2 ได้

“การตัดสินใจของประธานรัฐสภา ในการไม่บรรจุทั้ง 2 ร่างฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการตัดสินใจสวนทางคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผมหวังว่าประธานรัฐสภา จะทบทวนและตัดสินใจบรรจุร่างฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เพื่อเดินหน้าผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนเร็วที่สุด ด้วยกระบวนการชอบธรรมทางประชาธิปไตย” นายพริษฐ์ กล่าว.