เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก Pichaarpa Pisutserani โพสต์ข้อความระบุว่า “เชียงใหม่วิกฤติมาหลายปี อันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง” พร้อมแชร์เพจข่าว ใจความสำคัญระบุว่า ” คณะแพทยศาสตร์ มช. เผย ตั้งแต่ 1 ม.ค. -15 มี.ค. 67 มีผู้ป่วยเข้ารักษาด้วยผลกระทบจาก PM2.5 แล้วจำนวน 30,339 ราย เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขอประชาชนเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว”

จากนั้นมีการโพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “รายนามคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด

มีนาคม 2565 .. รองศาสตราจารย์.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กันยายน 2566 .. รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และท่านเป็นอดีตคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ..

ท่านริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก PM2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจาก สกว.

ธันวาคม 2566 .. นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมษายน 2567 .. ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร จึงจะแก้ปัญหาการเผาและ PM2.5 ????”

กระทั่งมีการโพสต์ข้อความระบุว่า “ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของท่านคณบดีค่ะ ..ท่านเป็นอาจารย์ มช. ท่านล่าสุด ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด” พร้อมแชร์โพสต์ของเพจ “Faculty of Architecture, Chiang Mai University” ที่มีการโพสต์ภาพหมายกำหนดการอภิธรรมศพ พร้อมข้อความระบุว่า “ด้วยรักและอาลัยยิ่ง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิธีสวดอภิธรรม วันที่ 4-5 เมษายน พ.ศ.2567 เวลา 19.30 น ณ ศาลาปฏิบัติธรรม วัดสวนดอก พระอารามหลวง จังหวัดเชียงใหม่”

ซึ่งหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไป ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น พร้อมแสดงความเสียใจ และแชร์กันออกไปจำนวนมาก

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เฟซบุ๊ก “Pichaarpa Pisutserani” – เพจ “Faculty of Architecture, Chiang Mai University”