เมื่อวันที่ 17 เม.ย. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.ต.นิทัสน์ มีทอง สว.กก.สส.4 ด.ต.ชาญฤทธิ์ นิลทการ ด.ต.ธีรพันธ์ โพยนอก จ.ส.ต.สรายุทธ ยศสกุล จ.ส.ต.กานต์ สรรพกิจจำนง ผบ.หมู่ กก.สส.4 บช.น. จับกุม นายอโนชา (สงวนนามสกุล) หรือฉายา เซียนอาร์ม อ้อมน้อย อายุ 36 ปี ชาว จ.พะเยา ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญามีนบุรี ที่ 1239/2566 ลงวันที่ 24 พ.ย. 66 ความผิดฐาน “ฉ้อโกง และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง” โดยจับกุมได้ที่ริมถนนหน้าบริษัทแห่งหนึ่ง ใน ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร วานนี้ (16 เม.ย.)

การจับกุมครั้งนี้ คนร้ายได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “ณัฏนิช ศรีสวัสดิ์” ติดต่อผู้เสียหายมาทางแชตเมสเซนเจอร์เฟซบุ๊ก เนื่องจากเห็นโพสต์เกี่ยวกับพระเครื่องของผู้เสียหายในกลุ่มเฟซบุ๊ก ต่อมาได้เสนอขายพระเครื่องให้แก่ผู้เสียหาย จนผู้เสียหายตกลงซื้อพระเครื่อง โดยโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ต้องหาเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท เป็นค่ามัดจำพระหลวงพ่อโสธร 80 ปี กรมตำรวจ

ต่อมาไม่สามารถติดต่อได้ จึงเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.คันนายาว จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบพบว่า ผู้ต้องหามีหมายจับในคดีลักษณะเดียวกันอีกหลายพื้นที่ ทั้งนี้เมื่อปี 61 เคยถูกจับกุมเกี่ยวกับกรณีโพสต์ข้อความแอบอ้างว่าเป็นศูนย์รวมเครื่องมือช่างจัดจำหน่ายเครื่องมือช่างต่างๆ ในราคาถูกกว่าท้องตลาด จนทำให้มีผู้หลงเชื่อโอนเงินสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องมือช่างชนิดต่างๆ ได้รับความเสียหายหลายราย กระทั่งถูกชุดสืบสวนนครบาลจับกุมตัวไว้ได้

จากการตรวจสอบประวัติพบมีอีก 2 หมาย ติดตัว 1.หมายจับศาลจังหวัดหัวหินที่ 109/2560 ลงวันที่ 15 พ.ค. 60 สภ.ปราณบุรี ภ.จว.ประจวบคีรีชันธ์ ในความผิดฐาน “ฉ้อโกง” และ 2.หมายจับศาลแขวงขอนแก่นที่ 131/2561 ลงวันที่ 22 มิ.ย. 61 สภ.เมืองขอนแก่น ภ.จว.ขอนแก่น ในความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และฉ้อโกง” และของศาลอาญามีนบุรี ที่ 1239/2566 รวมเป็น 3 หมาย สอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงนำนำตัวส่ง สน.คันนายาว เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช ผบก.สส.บช.น. ขอฝากเตือนว่า ผู้ใดนิยมการซื้อขาย สิ่งมีค่า หรือพระสะสมหายากในโลกโซเชียลต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วน เนื่องจากมีมิจฉาชีพปะปน ควรมาจากเพจหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือหรือมีหน้าร้านที่สามารถติดต่อได้จริง เพื่อป้องกันคนร้ายเข้ามาสวมรอย.