สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ว่า เกรตแบริเออร์รีฟ แนวปะการังซึ่งมักได้รับการขนานนามว่าเป็น “โครงสร้างสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” มีความยาว 2,300 กิโลเมตร และเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ปะการังมากกว่า 600 ชนิด และปลา 1,625 สายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม การสำรวจทางอากาศที่ดำเนินโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ เผยให้เห็นว่า แนวปะการังประมาณ 730 แห่ง จากทั้งหมดมากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งครอบคลุมเกรตแบริเออร์รีฟ เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว

“ผลกระทบสะสมที่เกิดขึ้นทั่วทั้งแนวปะการัง ในฤดูร้อนปีนี้ สูงกว่าฤดูร้อนครั้งก่อน ๆ” จีบีอาร์เอ็มพีเอ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย ระบุในแถลงการณ์

อนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการฟอกขาวครั้งใหญ่ “ครั้งที่ 5” ของเกรตแบริเออร์รีฟ ในช่วง 8 ปีทีผ่านมา

นายโรเจอร์ บีเดน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของจีบีอาร์เอ็มพีเอ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดต่อแนวปะการังทั่วโลก พร้อมกับเสริมว่า เกรตแบริเออร์รีฟ เป็นระบบนิเวศที่มหัศจรรย์ และมันแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นมาแล้วหลายครั้ง แต่ฤดูร้อนปีนี้มีความท้าทายเป็นพิเศษ

ขณะที่ นางแอนน์ ฮอกเกตต์ นักชีววิทยาทางทะเล ซึ่งอยู่อาศัยและทำงานบนเกาะลิซาร์ด มานาน 33 ปี กล่าวว่า ในช่วงที่เธอมาถึงเกาะแห่งนี้เป็นครั้งแรก ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวจะเกิดขึ้นในทุก 10 ปี แต่ในปัจจุบัน การฟอกขาวเกิดขึ้นทุกปี ซึ่งเธอกังวลว่า แนวปะการังอาจได้รับความเสียหายมากเกิน จนไม่สามารถฟื้นตัวได้

ทั้งนี้ ทางการออสเตรเลียลงทุนประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 118,000 ล้านบาท) เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ, ลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และคุ้มครองสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคาม แต่สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ ความพยายามเหล่านี้เพียงพอที่จะรักษาสถานะมรดกโลก ในการพิจารณาขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ช่วงปลายปีนี้หรือไม่.

เครดิตภาพ : AFP