เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 18 เม.ย. ที่ทําเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลจะกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำได้หรือไม่ว่า สิ่งที่คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตได้ดูในการประชุมที่ผ่านมา คือเรื่องแหล่งเงิน โดยจะใช้งบประมาณปี 2567 และปี 2568 อีกส่วนหนึ่งคือดําเนินโครงการตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอํานาจหน้าที่ ดังนั้น ที่ประชุมไม่มีการพูดถึงเรื่องแหล่งกู้เงิน โดยเวลาทำโครงการตามมาตรา 28 ต้องกำหนดรายละเอียด และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี ตนจึงไม่แน่ใจว่ากระแสข่าวที่จะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาจากไหน ยืนยันว่าในที่ประชุมไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เป็นการพูดกันเองของสื่อหลังจากมีแถลงข่าว

เมื่อถามว่า แหล่งเงินจํานวน 170,000 ล้านบาท จะนำมาจากไหน นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการโครงการ คือจะดำเนินการตามมาตรา 28 เพียงแค่นั้น ซึ่งโดยหลักการทำได้ แต่ต้องทำรายละเอียดเพื่อเสนออีกครั้ง อย่างโครงการโคแสนล้าน ที่ต้องเขียนรายละเอียดโครงการให้ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ แต่ทั้งหมดสื่อพูดกันเอง

เมื่อถามว่า การใช้เงินตามมาตรา 28 กับการใช้เงิน ธ.ก.ส. เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า คนละเรื่อง แต่หากใช้เงินของ ธ.ก.ส. จะต้องผ่านมติบอร์ดของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะต้องพิจารณาตามกรอบมาตรา 27 และ 28

เมื่อถามว่า หากไม่ใช้เงินจาก ธ.ก.ส. จะใช้เงินจากช่องทางอื่นได้อีกหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ทราบว่ากระทรวงการคลังจะคิดอย่างไร เพราะเป็นผู้คิดโครงการ

เมื่อถามว่า การใช้มาตรา 28 กับเงิน ธ.ก.ส. จะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไร ให้เงินไปถึงกลุ่มอาชีพเกษตรกรจริงๆ นายปกรณ์ กล่าวว่า เป็นรายละเอียดที่กระทรวงการคลังต้องไปดู ทั้งนี้ ในวันที่มีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้มีการพูดถึงรายละเอียดเลย หารือแค่เฉพาะหลักการ ว่าแหล่งเงินจะมาจากไหน

เมื่อถามว่า สหภาพ ธ.ก.ส.ต้องการให้กฤษฎีกาชี้แนะข้อกฎหมายของ พ.ร.บ. ธ.ก.ส. จะสามารถทำได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า จะแยกส่งให้กฤษฎีกา หรือจะส่งพร้อมกับความเห็นของ ครม.ก็ได้ เพราะขั้นตอนการหารือของกฤษฎีกาจะมี 2 แบบ 1. เข้า ครม. คณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความเห็นประกอบ 2. การหารือโดยตรงกับกฤษฎีกา โดยผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่ามีปัญหาประเด็นข้อกฎหมายตรงไหน ซึ่งเป็นไปตามหลักการแก้ไขปัญหา การบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นหากแก้ปัญหาภายในหน่วยงานได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านกฤษฎีกา แต่ถ้าส่งผ่านความเห็น ครม. ก็จะใช้ขั้นตอนสั้นลง.