สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ว่ายานอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 ของนาซา ที่ถูกส่งไปทำภารกิจไกลที่สุดในจักรวาล ส่งข้อมูลที่ใช้งานได้กลับมายังโลกสำเร็จ

แม้ยานจะยังสามารถทำตามคำสั่งของผู้ควบคุมได้ แต่ระบบหยุดส่งข้อมูลที่อ่านได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566

ในเดือน มี.ค. 2567 ทีมงานในห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (เจพีแอล) ของนาซา ค้นพบชิปตัวหนึ่ง ซึ่งทำงานผิดพลาด และคิดค้นวิธีแก้ไขรหัส ภายใต้ข้อจำกัดด้านความจำ เนื่องจากคอมพิวเตอร์มีอายุถึง 46 ปี

“วอยเอจเจอร์ 1 กำลังส่งข้อมูลที่ใช้งานได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพ และสถานะของระบบวิศวกรรมบนยาน” นาซากล่าว

“ขั้นตอนต่อไปคือ การทำให้ยานเริ่มกลับมาส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้อีกครั้งหนึ่ง” หน่วยงานระบุเพิ่มเติม

โครงการยานอวกาศดังกล่าวเปิดตัวเมื่อปี 2520 เป็นยานอวกาศลำแรกของมนุษยชาติ ที่เดินทางออกไปนอกระบบสุริยะ เมื่อปี 2555 ปัจจุบัน ยานวอยเอจเจอร์ 1 เคลื่อนตัวอยู่ห่างจากโลกมากกว่า 15,000 ล้านไมล์ ทำให้การส่งข้อความจากโลกไปยังยานวอยเอจเจอร์ ใช้เวลานานกว่า 22.5 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังมียานฝาแฝด “วอยเอจเจอร์ 2” ที่เดินทางทะลุออกจากระบบสุริยะ เมื่อปี 2561

ยานทั้งสองลำบรรทุก “แผ่นบันทึกทองคำ” ซึ่งเป็นแผ่นจานทองแดงเคลือบทองขนาด 12 นิ้ว มีจุดประสงค์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของโลกให้กับมนุษย์ต่างดาว หากทั้งสองฝ่ายมีโอกาสพบกัน

นอกจากนั้น ยังมีแผนที่ระบบสุริยะ ชิ้นส่วนของยูเรเนียมที่ทำหน้าที่เป็นนาฬิกากัมมันตภาพรังสี ช่วยให้ผู้รับทราบวันที่ยานอวกาศถูกปล่อย และคำสั่งสัญลักษณ์ ซึ่งสื่อถึงวิธีการใช้แผ่นจานบันทึก

เนื้อหาในบันทึกประกอบไปด้วย ภาพสิ่งมีชีวิตบนโลกที่เข้ารหัส เช่นเดียวกับเพลงและเสียง ที่สามารถเล่นได้โดยการใช้ปากกาสำหรับใช้งานบนอวกาศ

อย่างไรก็ดี คาดว่าแหล่งพลังงานของยานจะหมดลงในช่วงหลังปี 2570 หลังจากนั้น ยานจะเดินทางต่อไปเองในทางช้างเผือกอย่างเงียบ ๆ และอาจติดอยู่ที่นั่นไปตลอดกาล.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES