“เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเด็กทุกคน!” ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามการขยายโอกาสการเรียนรู้ผ่าน “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.” ระดับภูมิภาค และมุ่งสร้างความร่วมมือกับชุมชน ถ่ายทอดความรู้ด้าน วทน. ไปสู่เยาวชนพร้อมสร้างความแข็มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ คือ 1 ใน 3 แหล่งเรียนรู้ระดับภูมิภาคของ NSM ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด Explore, Enjoy and Inspire เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้สู่ภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยังช่วยให้เยาวชนในภูมิภาคต่างๆ เข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้มากขึ้นตามนโยบายของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงอว.ที่ย้ำเสมอว่า การขยายโอกาสการเรียนรู้สู่ภูมิภาค ผ่าน “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.” ของ NSM นั้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเปิดโอกาสให้เยาวชนในภูมิภาคต่าง ๆ เข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพมากขึ้นการมีแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพใกล้บ้าน ช่วยให้ประชาชนในต่างจังหวัดเข้าถึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ได้สะดวก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ ได้รับความร่วมมือจาก สดร.เปิดมาเป็นปีที่ 4 กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้าน วทน. ยอดนิยม ดึงดูดผู้เข้าชมมากกว่า 430,000 คน สะท้อนให้เห็นถึงผลตอบรับเชิงบวกและความสำเร็จที่น่าประทับใจ

“จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ ถือเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน วทน.ขยายโอกาสการเรียนรู้สู่เยาวชนในภูมิภาค ในอนาคต NSM มุ่งมั่นพัฒนา ปรับปรุง ขยาย รูปแบบการบริการ กิจกรรม นิทรรศการ ของจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ ให้รองรับจำนวนผู้เข้าชมที่เพิ่มขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้เข้าชมที่หลากหลาย และมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ดีที่สุดในภาคเหนือ” ผศ.ดร.รวิน กล่าว

ปัจจุบันจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ จัดแสดงเป็น 5 โซน ประกอบด้วย 1.เปิดโลกอาชีพแห่งอนาคต มาร่วมค้นหาตัวตนผ่านแบบประเมินออนไลน์เพื่อทดสอบความรู้ ความสามารถและทักษะเฉพาะตน ค้นพบอาชีพ 2.เปิดโลกทางการแพทย์ เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพที่จะมารอบรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตด้านการแพทย์ อาทิทนักคิดค้นและพัฒนายาจากสมุนไพร นักคิดค้นและพัฒนาวัคซีน เป็นต้น 3.ฐานปฎิบัติการภัยพิบัติ เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การบินและอวกาศ ความใฝฝันอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์และ 5.Activity  สนุกกับกิจกรรมทางวิทยาศาสร์แสนสนุก

ความสำเร็จของจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ ทำให้ NSM ต้องเตรียมเปิดจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.แห่งใหม่ที่หอดูดาวขอนแก่น อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยจะร่วมกับ สดร.

“จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. จะขยายไปตั้งที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ปลายปีนี้ โดยร่วมกับ สดร.ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เพราะสถานที่ตั้งไม่ใช่ในอำเภอเมืองเหมือนจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนเดินทางไปมาสะดวก แต่ที่น้ำพองห่างออกมาจากตัวเมืองพอสมควรประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ที่เขื่อนอุบลรัตน์ ไกลจากกลุ่มคนเมือง ดังนั้น NSM จะต้องทำงานหนักให้มากขึ้นเพื่อดึงโรงเรียนและชุมชนเข้ามาเรียนรู้ และเป็นแนวร่วมในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเด็กทุกคน ที่จะช่วยส่งเสริมสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ” ผศ.ดร.รวิน กล่าว

ด้านดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สดร. กล่าวว่า ขอบคุณ ผศ.ดร.รวิน ที่มาช่วยเติมเต็มในเรื่องจตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เพราะ สดร.มีความเชี่ยวชาญเรื่องดาราศาสตร์ แต่ในส่วนที่ไม่ใช่เรื่องของดาราศาสตร์ก็ได้ NSM เข้ามาช่วย ทำให้สมบูรณ์มากขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ ปีหนึ่งจะมีคนมาเข้าชมกว่าหลายแสนคน ถือเป็นศูนย์ให้บริการทางวิทยาศาสตร์ที่มีคนเข้ามาใช้บริการมากที่สุดแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

“ส่วนที่หอดูดาวขอนแก่นจะร่วมมือกับ NSM สร้างแหล่งเรียนรู้ในลักษณะแบบเดียวกับจตุรัสวิทยา ศาสตร์ บริเวณดังกล่าวจะติดกับอุทยานแห่งชาติน้ำพอง อุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ อุทยานแห่งชาติภูเวียง ทั้ง 3 อุทยานฯ จะประกบหอดูดาวขอนแก่นทั้งเหนือ ทั้งใต้ และด้านตะวันตกของเขื่อนอุบลรัตน์ โดยพื้นที่ดังกล่าวจะมีการสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่าง สดร. NSM และอุทยานแห่งชาติทั้ง 3 แห่งเมื่อมาเที่ยวชมจะมาดูได้แบบครบวงจร ถือเป็นการทำงานร่วมกัน  สุดท้ายประชาชนคือผู้ได้ประโยชน์สูงสุด” ผอ.สดร.กล่าว