เมื่อวันที่ 26 เม.ย. เวลา 16.30 น. ที่ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ  นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา แก่คณะทูตต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่ประจำการในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วม 70 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเอกอัครราชทูต 11 คน

ภายหลังการบรรยายสรุปเสร็จสิ้น นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (26 เม.ย.) นายสีหศักดิ์เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อีกทั้งได้หารือถึงการยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในเมียนมา รวมถึงการช่วยเหลือผู้หนีภัยความไม่สงบเข้ามาในฝั่งไทย ในกรณีที่มีผู้หนีภัยเข้ามามากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเตรียมการเกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างๆ ในอนาคต จากนั้น นายสีหศักดิ์ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดของพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งสถานการณ์การสู้รบได้บรรเทา โดยคาดว่ามาจากการเจรจาระหว่างทหารเมียนมากับกลุ่มอื่น สำหรับไทยได้เตรียมรองรับกับทุกสถานการณ์ โดยการดำเนินการขั้นต่อไป คืออาเซียนจะหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้มีบทบาทนำในการเกิดสันติภาพและความมั่นคงในเมียนมาอีกครั้ง

นายนิกรเดช กล่าวอีกว่า ตั้งแต่เกิดการสู้รบในเมืองเมียวดี ไทยและสปป.ลาว ได้หารือกันอย่างใกล้ชิด โดย สปป.ลาว ในฐานประธานอาเซียนจะหารือกับเมียนมาและประเทศอาเซียนอื่นๆ เกี่ยวกับการดำเนินการขั้นต่อไป และไทยจะหารือกับเมียนมาด้วยอีกทาง  นอกจากนี้ ไทยจะหารือกับองค์การระหว่างประเทศต่อไปเพื่อต่อยอดการประชุมที่เกิดขึ้นในวันนี้เพื่อแสวงหาความร่วมมือที่ดีที่มีระหว่างกัน โดยข้อคำนึงที่สำคัญที่สุด คือความยินยอมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่าการดำเนินการของไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนที่ได้รับผลกระทบ

นายนิกรเดช กล่าวว่า สถานการณ์ในเมียนมานั้น ตามที่ได้รับรายงานในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ไม่ได้ยินเสียงปืน ขณะที่คนเมียนมาส่วนใหญ่เดินทางกลับไปแล้ว ทำให้เราประเมินว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น และน่าจะมีการหารือระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่

เมื่อถามว่าการหารือกรอบอาเซียน ทรอยก้า พลัส มีความคืบหน้าอย่างไร  นายนิกรเดช กล่าวว่า ไทยหารือกับสปป.ลาวในฐานะประธานอาเซียน เพราะรมว.ต่างประเทศ สปป.ลาวได้เดินทางมาเยือนไทย แต่ข้อริเริ่มอาเซียน ทรอยก้า พลัส ต้องเสนอโดยประธานอาเซียนคือ สปป.ลาว ขณะนี้ตนเชื่อว่า สปป.ลาวกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหนั้น ไม่สามารถตอบได้ ทั้งนี้ สปป.ลาวต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเป็นเรื่องลำบากที่จะพูดเวลาการประชุมที่ชัดเจนในตอนนี้ไทยอยากให้อาเซียนมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในเรื่องเมียนมา และเห็นว่าถ้าสามารถประชุมได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะไทยคิดว่าอาเซียนต้องทำอะไรมากขึ้นในเรื่องนี้ ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุดเมื่อเกิดความไม่สงบในพื้นที่ชายแดน เราทำในสิ่งที่เราทำได้ เพื่อให้อาเซียนมีบทบาทเชิงรุกในเรื่องเมียนมามากขึ้น และเราจะพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้เมียนมาเกิดสันติภาพและเสถียรภาพ