เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน กลุ่มศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน ที่ลงสมัคร สว.ภาคประชาชน จัดกิจกรรมแนะนำตัวผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. ปี 2567 ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยน สว.ได้ ประเทศไทยเปลี่ยนได้” โดยนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เหลียวหลัง แลหน้า วุฒิสภาไทย เอาอย่างไรกันต่อดี”  ตอนหนึ่งว่า  ภาพใหญ่ก็คือเรากำลังเผชิญกับเกมของชนชั้นนำ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ถ้าดูทั่วโลก ชนชั้นนำที่ไม่อยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ในยุคปัจจุบันยากที่จะรัฐประหาร เขาก็ต้องใช้วิธีการที่แนบเนียนกว่านั้น ซึ่งการรัฐประหารโลกปัจจุบันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายประชาธิปไตย ไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพราะรัฐประหารแล้วปกครองไม่ได้ ดังนั้นต้องใช้บริบทของ สว.ในการเข้ามาเปลี่ยนกติกา คุมกรรมการ และทำให้ฝ่ายค้านชนชั้นนำอ่อนแอ ดังนั้นการรัฐประหารจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น มิใช่จุดสิ้นสุดของการทำลายประชาธิปไตย และในบริบทของไทย สว.คือข้อต่อสำคัญในเกมของชนชั้นนำ

นายประจักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนพัฒนาการและประวัติศาสตร์ของ สว.ไทย  มีความผันผวนซับซ้อนสะท้อนความผันผวนของประชาธิปไตยไทย สว.ทำหน้าที่ค้ำจุนอำนาจนิยมมากกว่าค้ำจุนประชาธิปไตย เริ่มจากการรัฐประหาร 2490 ที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยเริ่มเข้าสู่วงจรอุบาทว์นับตั้งแต่นั้น ตนสรุป 3 ข้อ คือ 1.สว.ไทยเกือบทุกชุดทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 2.สว.ยังมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาคณาธิปไตยของชนชั้นนำชนกลุ่มน้อย  เครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ และ 3. สว.ไทยไม่ได้ถูกออกแบบให้ตรวจสอบรัฐบาล ยกเว้น สว.ตามรัฐธรรมนูญ 40 แต่เป็นส่วนขยายของรัฐบาลที่ทำหน้าที่ค้ำจุนระบอบ เมื่อทหารทำรัฐประหารแล้วไม่สามารถคุมสภาล่างได้ จึงตั้ง  สว.ขึ้นมา สว.จึงเป็นพื้นที่ของการสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ของชนชั้นนำ  ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ควรแก้ไขเรื่องเหล่านี้ 

นายประจักษ์ กล่าวต่อไปว่า ในยุคแรกของการตั้งรัฐสภา ตั้งแต่ปี 2475-2489 ประเทศไทยมีสภาเดียว ต่อมามี 2 สภาและมี สว.จากการแต่งตั้งเป็นครั้งแรก ในปี 2490  กระแสทางสังคมมีความสำคัญว่า สว.จะมีหน้าตาอย่างไร ซึ่งในปี 40 ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง สว.ครั้งแรก  สิ่งที่เราต้องทบทวนคือ สว.มาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมมากขึ้น และมีอำนาจในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาอำนาจในการสรรหา และรับรองบุคคลในองค์กรอิสระไปให้ สว.และตกค้างมาถึงทุกวันนี้  จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่สามารถได้ สว.ที่เป็นประชาธิปไตยและมีจิตใจเป็นกลาง เราก็จะได้องค์กรอิสระที่ไม่เป็นกลางด้วย ต่อมาปี 2550 มี สว.คนละครึ่ง ทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้ง ต่อมายุค คสช.รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นระบบพิสดาร โดยมีบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกให้ คสช.แต่งตั้งทั้งหมด และให้ สว.มีอำนาจเลือกนายกฯ โดยตรง ซึ่งยุคประชาธิปไตยครึ่งใบยังไม่กล้าเขียนขนาดนี้

“ดีไซน์ รัฐธรรมนูญ 60 บิดเบือนกลไกประชาธิปไตยเพื่อรักษาระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สภาพของตัวแทนกลุ่มอาชีพ ที่ปราศจากการมีส่วนร่วมและยึดโยงประชาชน ซึ่งชนชั้นนำควบคุมได้ เปลี่ยนการเลือกตั้งให้กลายเป็นการเลือกสรร กีดกันประชาชนออกไป  และมีการดึงมาเป็นพวก ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการเลย ก็จะเกิดการเลือกแค่คนกลุ่มเล็กๆ สะท้อนว่าชนชั้นนำอนุรักษนิยมยังคงต้องการสงวนกลไกวุฒิสภาไว้ให้เป็นกลไกค้ำจุนอำนาจของตน แม้ในวันที่ตนไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว  ก็คือเป็นการทำพินัยกรรมทิ้งเอาไว้ และสว.เป็นผู้รักษาพินัยกรรมนั้น” นายประจักษ์ กล่าว

นายประจักษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในการเลือก สว.แบบที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เราเคยเลือกมาแล้ว ในปี 61 ซึ่งเป็นการเลือก สว.ที่เงียบที่สุดในโลก เป็นสิ่งที่ กกต.ยอมรับเอง เป็นการทดลองใช้สิ่งที่ดีไซน์ไว้ในรัฐธรรมนูญ 60 มาใช้ก่อน โดยเลขาฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อเองว่าเขาไม่ต้องการให้เป็นข่าว แต่ต้องการให้คนกลุ่มเล็กๆ เลือกกันเองแบบกุ๊กๆ กิ๊กๆ แล้ว คสช.ก็มาหยิบ 50 คนไปแบบเงียบๆ โดยมีการสรรหาจากกลุ่มอาชีพ 50 คน มีคนมาสมัครทั้งหมด 7,210 คน ใช้งบ 1,300 ล้านบาท สุดท้ายให้ คสช.เลือกอีกที เป็นการสูญเสียงบประมาณประเทศอย่างมาก  ดังนั้นการเลือก สว.ที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ขึ้นอยู่ที่จะมีคนสมัครมากน้อยแค่ไหน ถ้าคนสมัคร 2 แสนคนก็เป็นตัวแทนของประชาชนมากขึ้น เมื่อเกมเป็นแบบนี้จึงต้องขยายวงคนที่มีส่วนร่วมให้มากขึ้น

นายประจักษ์ กล่าวว่า บทเรียนจากประวัติศาสตร์เราเห็นข้อสรุปชัดเจนว่าเมื่อรัฐธรรมนูญร่างจากคณะรัฐประหาร ก็ชัดเจนในการเพิ่มอำนาจ สว.และให้มีที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจ เมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยก็เกิดข้อถกเถียงมาตลอดว่าควรมีสภาเดียว หรือสองสภา ตนขอฝากให้ไปคิดพิจารณาในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เราร่างรัฐธรรมนูญเราติดกับดักทางความคิด แต่รัฐธรรมนูญปี 2489 เชื่อว่าต้องมีสภาสูง มาเป็นสภาพี่เลี้ยง ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2517 ยึดหลักราชประชาสมาศัย เป็นความไม่ไว้ใจ ประชาชน และยังมี สว.มาจากการแต่งตั้ง ส่วน ปี 2540 เราติดกับดักเรื่องสภาคนดี ห้ามหาเสียง แนะนำตัวได้อย่างเดียว เป็นการจำกัดข้อมูลความรู้ของประชาชน

“ดังนั้นการแก้เกมครั้งนี้จึงเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชน  เดิมพันคือการแก้เกมของประชาชน แก้เกมที่ชนชนนั้นนำที่ไม่ชอบประชาธิปไตยวางเอาไว้ พวกท่านทุกคนเป็นมนุษย์ประวัติศาสตร์ เดิมพันการเลือก สว. 67 ครั้งนี้สำคัญ เป็นการรื้อฟื้นประชาธิปไตย เพราะ สว.มีอำนาจมาก โดยเฉพาะการเลือกองค์กรอิสระ เป็นการสู้ในเกมเพื่อเปลี่ยนเกม แก้กติกา เปลี่ยนกรรมการ และสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียม ไม่มีใครคนเดียวทำลายประชาธิปไตยได้ และไม่มีใครคนเดียวสามารถรื้อฟื้นประชาธิปไตยให้กลับมามีชีวิตได้เช่นกัน แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน” นายประจักษ์ กล่าว

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับประกาศของ กกต. เห็นต่างอย่างรุนแรง ประกาศ กกต. เกิดจากกรอบความคิดในการเลือก สว.ตามรัฐธรรมนูญ 60 ที่เป็นการเลือกแบบกุ๊กกิ๊กๆ ไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้รับทราบ การที่เขายึดกรอบความคิดนี้เป็นโมเดลในการออกระเบียบในการแนะนำตัว เป็นแนวคิดที่ผิดหลักการ ซึ่งหลักใหญ่ควรยึดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.และรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ สส.และสว.เป็นตัวแทนของคนไทยทุกคน จึงต้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและมีส่วนร่วมมากที่สุด การออกระเบียบข้อห้ามในการแนะนำตัว ที่สำคัญห้ามสัมภาษณ์สื่อมวลชน ห้ามแนะนำตัวผ่านโซเชียล ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการได้มาซึ่ง สว.และกกต.ไม่มีอำนาจออกระเบียบนี้ได้ ดังนั้นการออกระเบียบดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ และเราต้องการคัดค้าน โดยจะนำเรื่องนี้ไปให้ผู้มีอำนาจตัดสิน  ซึ่งระเบียบที่ออกมาถือเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงจะยื่นเรื่องให้ศาลปกครองชี้ขาดในเรื่องนี้ต่อไป  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้ประสงค์ลงสมัครเลือกตั้ง สว. ปี 2567 ในกลุ่ม “ศิลปิน สื่อมวลชน และ นักเขียน”ประกอบด้วย น.ส.จารุนันท์ พันธ์ชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง  จ.นนทบุรี นายประทีป คงสิบ สื่อมวลชน/นักเขียน จ.เพชรบูรณ์ น.ส.ภาวิณี ฟอฟิศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง กทม. นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง จ.นครราชสีมา นายซะการีย์ยา อมตยา สื่อมวลชน/นักเขียน จ.นราธิวาส  น.ส.นารากร ติยายน สื่อมวลชน/นักเขียน  จ.เชียงใหม่

นายธีระวัฒน์ รุจินธรรม ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง จ.ตรัง  น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ สื่อมวลชน/นักเขียน จ.หนองบัวลำภู นายพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง จ.ฉะเชิงเทรา นายประกิต กอบกิจวัฒนา ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง จ.จันทบุรี นายธีรวัฒน์ มุลวิไล ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง จ.เชียงราย นายถนัด ธรรมแก้ว สื่อมวลชน/นักเขียน จ.ศรีสะเกษ  น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร สื่อมวลชน/นักเขียน จ.เชียงราย  น.ส.ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง จ.นนทบุรี น.ส.ชลณัฏฐ์ โกยกุล สื่อมวลชน/นักเขียน จ.พังงา นายศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง จ.นนทบุรี.