เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ C asean SAMYAN CO-OP ชั้น 2 สามย่านมิตรทาวน์ ได้มีการจัดกิจกรรม SX TALK SERIES ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้งาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) โดยเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองจากนักวิชาการ นักออกแบบ นักพัฒนา ประกอบด้วย ดร.ทรงวาด สุขเมืองมา ฝ่ายพัฒนาเนื้อหาและธุรกิจบ้านและสวน นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และกลุ่มมนุษย์ปากคลองฯ นายไพทยา บัญชากิติคุณ อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายสว่าง ศรีสม ประธานฝ่ายแผนงานโครงการภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (Transportation for All, T4A)  ร่วมกันแชร์ไอเดีย เมืองของทุกคน คุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

นายสิทธิพล เปิดเผยว่า ตนทำงานกับกลุ่มเปราะบางอยู่ตลอด เห็นกลุ่มเปราะบางมีโอกาสใช้ชีวิตในที่สาธารณะน้อยมากๆ ด้วยข้อจำกัด ตนจึงคิดว่าเมืองยังไม่ซัพพอร์ตกลุ่มคนเปราะบาง ไม่มีกลไกที่ทำให้คนที่มีความเปราะบางได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ อาทิ คนไร้บ้าน คือคนที่มีต้นทุนชีวิตต่ำ เมื่อวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุทางชีวิตขึ้น ก็ไม่สามารถประกอบสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ได้ ส่วนมากมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงงาน โดยเป็นแรงงานที่ไร้ทักษะฝีมือ ไม่มีคอนเน็กชั่นและอายุเยอะ ทำให้การจะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานนั้นเป็นเรื่องยาก จึงทำให้เกิดโครงการจ้างวานข้า ของทางมูลนิธิกระจกเงา และยังมีโครงการ “บ้านอิ่มใจ” ในกทม. นอกจากนี้ยังมีโครงการ “สดชื่นสถาน” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์แก่คนไร้บ้านให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น มีตู้น้ำดื่มเย็นสาธารณะที่แม้ว่าจะเริ่มจากกลุ่มคนไร้บ้าน ก็ยังตอบโจทย์คนที่มาใช้พื้นที่สาธารณะด้วย เช่น นักศึกษา นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะช่วงสงกรานต์มาใช้ ทำให้ที่สาธารณะกลายเป็นที่ที่ทำให้คนเริ่มเท่ากัน ถ้าสามารถเพิ่มเติมให้มากเท่าที่จะมากได้ จะกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้มาใช้ได้จริง


ขณะที่ ผศ.ดร.สุพิชชา กล่าวว่า การทำให้เมืองดีขึ้นนั้นเป็นเรื่องยาก เช่น ประเด็นเล็กๆ ที่อยากแก้ไขต้องประสานหลายหน่วยงาน อีกทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมนั้นเป็นเรื่องยากไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล ภาครัฐหรือเอกชน จึงขอเสนอแนะให้เริ่มจากตัวเองก่อน หากอยากทำให้ลงมือทำได้เลย พร้อมยกตัวอย่างโปรเจกต์ “New World x Old Town” ศิลปะบนห้างเก่าแก่ย่านบางลำพู ซึ่งเริ่มจากคนในพื้นที่ก่อน จากนั้นค่อยเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมกับคนนอกพื้นที่ ส่วนในเรื่องของขอความร่วมมือกับภาครัฐนั้น จำเป็นจะต้องมีข้อมูลหรือตัวเลขที่ละเอียด นอกจากนี้ยังทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องรอและไม่ต้องกลัว

 
ด้าน นายไพทยา กล่าวว่า เมืองยังคงต้องมีการพัฒนาในด้านอื่นๆ อีก อาทิ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง การยกระดับคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย โดยที่ผ่านมาทางสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับ พอช.ได้เข้าไปช่วยออกแบบจัดสรรพื้นที่ที่อยู่อาศัยใน “ชุมชนบ่อนไก่” เปลี่ยนจากชุมชนแออัดจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้ดีขึ้น โดยคนภายในชุมชนยังมีวิถีชีวิตแบบเดิม หรือโครงการเมืองที่คนใช้ทางเดินได้ เช่น โครงการที่ร่วมกับ กทม. ในการทำโปรเจกต์ “สกายวอล์กราชวิถี” ซึ่งนอกจากความสะดวกแล้ว ก็ยังเน้นความสะอาดและสว่างเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ในอนาคตทาง กทม. ยังมีแผนที่จะเพิ่มหลังคาทางเท้าในพื้นที่สาทร สามย่าน และ จตุจักร อีกด้วย


ขณะที่ นายสว่าง กล่าวว่า ตนอยากได้เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเป็นเมืองที่คนพิการสามารถเดินได้หรือใช้รถเข็นได้ และไม่ว่าจะไปทางไหนก็สะดวกปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต ซึ่งขณะนี้ปัญหาของเรื่องทางเท้าหรือทางม้าลายก็ยังมีอยู่มาก ส่งผลให้คนพิการไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกปลอดภัย และทำให้การใช้ชีวิตของคนพิการมีข้อจำกัด นอกจากนี้ยังแนะนำให้คนที่คิดจะออกมาเรียกร้องหรือคิดจะร่วมกันพัฒนาเมืองว่า หากพูดหรือเรียกร้องแล้วยังไม่ได้ก็พูดต่อไปจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการทำงานในการเรียกร้องต่างๆ จะต้องประสานหลายหน่วยงาน และพึ่งพาทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ยังมีโครงการ “แกนนำเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ในต่างจังหวัดหากมีโปรเจกต์การพัฒนาเมืองอยากฝากกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มนี้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย.