นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี เตรียมเสนอโครงการ การพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยที่สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนภัยทุกประเภทให้กับประชาชน ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ด้วยการส่งข้อความแบบเจาะจง ในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด (เซลล์ บรอดแคสต์) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยคาดว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ในวันที่ 7 พ.ค. หรือหากไม่ทันก็จะเป็นการประชุม ครม. ครั้งต่อไป โดยจะมีรายละเอียดในเรื่องศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ ซีบีอี (Cell Broadcast Entities : CBE) ที่เป็นระบบของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาระบบ ซึ่งเบื้องต้นจะใช้งบประมาณจำนวน 434 ล้านบาท โดยจะขอสนับสนุนจาก กองทุนยูโซ่ ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งไม่รวมกลับระบบ ซีบีซี (Cell Broadcast Center : CBC) ของผู้ให้บริการโครงข่าย (โอปอเรเตอร์)  อีกประมาณ 1,000 ล้านบาท

“กระทรวงดีอี ได้ทำหนังสือเวียนสอบถามความเห็นจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว แต่ยังมี 2 หน่วยงาน ที่ยังไม่ตอบกลับมา กำลังติตามหนังสือกลับให้ครบ แล้วจะนำเสนอเข้า ครม. ทันที ส่วนจะเป็นหน่วยงานไหนที่จะทำหน้าที่ ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ระหว่างกระทรวงดีอี หรือ กระทรวงมหาดไทย ยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างกำลังทำร่างประกาศในเรื่องนี้อยู่”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาการประชุมบอร์ด กสทช. ได้มีนำวาระเรื่อง เซลล์ บรอดแคสต์ ให้ที่ประชุม เพื่อให้บอร์ดพิจารณา ซึ่งทางกระทรวงดีอี ได้ขอสนับสนุนงลในส่วนของ ซีบีอี จำนวน 434 ล้านบาท และวงเงินขอสนับสนุนของ โอปอเรเตอร์ เพื่อทำระบบ ซีบีซี จำนวน 1,031  ล้านบาท โดยให้หักเงินจากที่ต้องส่งรายปีให้กองทุนยูโซ่ รวมงบประมาณทั้งโครงการประมาณ 1,465 ล้านบาท แต่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. เห็นว่า ในหลักการจะต้องทำ แต่ควรรอให้มีการนำเสนอเรื่องเข้า ครม. ก่อน ว่าเห็นชอบกรอบวงเงินเท่าใด โดยเฉพาะในระบบของหน่วยงานภาครัฐที่ทางกระทรวงดีอี เพราะเกรงว่าจะซ้ำซ้อนกับงบประมาณที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับการจัดสรรไปแล้ว ทำให้กระทรวงดีอี ต้องรีบเสนอ ครม. เพื่อให้โครงการนี้สามารถเริ่มใช้งานได้ภายในสิ้นปีนี้

สำหรับเทคโนโลยีระบบของ เซลล์ บรอดแคสต์ ประกอบไปด้วย ระบบ 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหา และพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

และฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดยผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และการบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)