นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง เปิดเผยหลังเข้ากระทรวงการคลังวันแรกว่า ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา เพราะนับจากช่วงต้มยำกุ้ง จีดีพีไทยเติบโตลดลงมาตลอด จาก 5% เหลือเพียง 2% โดยทุก 5 ปี จีดีพีจะลดลง 1% ซึ่งต่ำสวนทางกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่ขยายตัวมากกว่าไทย ซึ่งสะท้อนปัญหา โดยเฉพาะในด้านส่งออกที่ไทยเคยเป็นฐานการผลิตสำคัญ แต่วันนี้โลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ไทยไม่สามารถปรับตัวให้ทันตาม เป็นการผลิตสินค้ารูปแบบเก่าอยู่

ดังนั้น สิ่งสำคัญต่อจากนี้ไทยจะต้องปรับตัวด้านการผลิต การส่งออก นำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาใส่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการเศรษฐกิจ และการก้าวสู่อุตสาหกรรมใหม่ การเชื่อมระบบโลจิสติกส์ระหว่างฝั่งอ่าวไทยกับอันดามัน ตลอดจนการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาพักในไทยนานขึ้น อำนวยความสะดวกเรื่องระบบการเดินทางขนส่ง การเชื่อมโยงท่องเที่ยวไทยกับภูมิภาค  ส่วนที่มองว่าจีดีพีปีนี้ 2.4% ต่ำไปหรือไม่ ก็พยายามทำให้ดีที่สุด แต่เศรษฐกิจในปีนี้ก็ต้องมาจากพื้นฐานก่อนหน้าที่ดีด้วย

นายพิชัย กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังจะทำเป็นอันดับแรก คือ การเพิ่มรายได้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะวันนี้ คนมีรายได้น้อยลง จีดีพีต่ำลง เงินเฟ้อก็ต่ำ โดยเผลอเงินเฟ้อที่ว่าต่ำแล้ว แต่รายได้อาจลดลงต่ำกว่า ที่เห็นได้ชัดๆ คือ เราเห็นว่าของแพง อีกสิ่งหนึ่งก็คือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินกว่า 90% ของจีดีพี เงินออมก็แทบไม่มี ฉะนั้นจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่กันกับการแก้ปัญหาหนี้

“ปัญหาเรื่องของแพง ไม่ใช่ไทยเผชิญแค่ประเทศเดียว แต่เป็นเหมือนกันทั้งโลก แต่ปัญหาอยู่ที่คนไทยมีรายได้เติบโตไม่ทันตาม อย่างสมัยก่อนกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 สตางค์ แต่มาขณะนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งสินค้าราคาไม่เท่าเดิม แต่ถ้าเรามีรายได้เพิ่ม ก็สามารถใช้จ่ายได้พอ”

สำหรับเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมี แต่เพิ่งมาขอเวลาสักพัก ขณะที่เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องทำ ซึ่งขออย่าให้มองว่าเป็นเรื่องการดูแลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะทั้งหมดมีความเชื่อมโยงถึงกันทั้งรายใหญ่ รายเล็ก เอสเอ็มอี และภาคแรงงาน ซึ่งการเติมเงินเม็ดเงินเข้าไปเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจช่วยให้จีดีพีเติบโต

ด้านแนวคิดการโยกหนี้จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไปให้ ธปท. ดูแลนั้น เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะนั้น เบื้องต้นเข้าใจว่าหนี้ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็เป็นของประเทศ ต้องมาดูความเหมาะสมอีกที เพราะขณะนั้นเมื่อปี 40 เข้าใจสถาบันการเงินกำลังลำบาก ก็เลยเอาหนี้มาไว้ที่รัฐบาล ซึ่งสุดท้ายจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องมีการหารือกัน  

ส่วนเรื่องตลาดทุน ตนเคยนั่งเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 เดือน 18 วัน ซึ่งพยายามแก้ปัญหาภายใน สร้างความเชื่อมั่นโดยตลอด และถ้าทำให้เศรษฐกิจดี จะทำให้มีหุ้นใหม่เข้าไปตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจสีเขียว คาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีตลาดคาร์บอนฯ ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เรื่องการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) กลับมานั้น ก็ยอมรับว่าอยากทำ เป็นหนึ่งแผนที่ต้องการทำเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นให้กลับมาคึกคัก แต่ก็ต้องดูตามความเหมาะสมอีกที