เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่หอประชุมศรีปราชญ์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช ต.หนองสงส์ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการศึกษาอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 18 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชหัวหน้าส่วนราชการ ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ นายจรัญ อินทสระ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายถิรนาถ เอสะนาชาตัง นายอำเภอทุ่งสง นายอรรถพงษ์ อยู่เกตุ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช นาย ช. โชคชัย คำแหง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คนที่ 51 และกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจากจังหวัด 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวม 97 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 18 ทำให้ได้มาพบปะ พูดคุย ฝากความหวังกับทุกท่านผู้เป็น “ทหารเสือพระราชา” ที่มีใจรุกรบ มีความมุ่งมั่นในการแสดงออกซึ่งความกล้าหาญ ด้วยการลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ดีที่สนองแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการเป็น “ครูจิตอาสา” บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่ถือเป็นการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในประเทศชาติ มุ่งมั่นตั้งใจฝึกอบรมในห้วงเวลา 5 วัน 4 คืน ที่พวกเรามาใช้ชีวิตร่วมกันในการฝึกอบรม แล้วกลับไปช่วยกันทำให้คนในสังคมได้ตระหนักและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของบรรพบุรุษของเรา

“ทุกท่านคือความหวังในการขับเคลื่อนภารกิจทหารเสือพระราชา เป็นคนดีของแผ่นดิน ผู้นำพาเรื่องราวของบรรพบุรุษ ของประเทศชาติ และของท้องถิ่น ไปบอกเล่า ถ่ายทอด สร้างความรัก ความสมัครสมานสามัคคี ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนมีความแปลกแยกทางความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติไทย ความเป็นคนไทย ที่มีลักษณะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง และต้องเริ่มตั้งแต่พื้นฐานของสังคม นั่นคือ “ครอบครัว” ที่เราต้องเล่าถึงความดีงาม ความเหนื่อยยากของปู่ ย่า ตา ยาย ให้เด็ก ให้ลูกหลานได้รู้ว่ากว่าจะเห็นเป็นสวนเงาะ สวนทุเรียน สวนยางพารา สวนมังคุดหรือความสะดวกสบาย มีทรัพย์สินเงินทองทุกวันนี้ได้นั้น ชีวิตของบรรพบุรุษต้องฝ่าฟันภัยอันตรายทั้งโรคระบาด ไข้ป่า ทำไร่ ทำสวนก็ไม่มีรถไถ ไม่มีเครื่องจักรกลทางการเกษตร แต่ทำด้วยสองมือสองขาของปู่ย่า ช่วยกันหักล้างถางโพรง ช่วยกันทำมาหากินจนพ่อแม่ได้เรียนหนังสือ และได้มีกินมีใช้มาจนถึงรุ่นหลาน เหลน ถึงทุกวันนี้ โดยการบอกเล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษในครอบครัวนั้น จะทำให้พวกเขาได้รู้ถึงคุณความดีที่ปู่ย่าตายายและบรรพบุรุษได้อดทนมุมานะบากบั่น เพื่อที่พวกเขาจะได้ภาคภูมิใจและที่สำคัญที่สุด “จะได้มีความกตัญญูกตเวที” ไม่ลืมพระคุณของปู่ย่าตายายที่ได้ทำมา ไม่ลืมว่าประเทศนี้มีบรรพบุรุษที่ยอมเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาผืนแผ่นดินมาให้พวกเรา เพื่อจะเป็นบันไดขั้นต่อไป คือ ทำให้ลูกหลานมีพฤติกรรมเหมือนบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่มีความรักชาติ เริ่มจากรักครอบครัว รักพี่น้องและเพื่อนบ้าน รักคนไทยด้วยกัน ดังพุทธศาสนสุภาษิต นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา : ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี ทั้งนี้ ชาวปักษ์ใต้เป็นตัวอย่างของการไม่ลืมบรรพบุรุษ ไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิด เพราะไม่ว่าจะไปอยู่ที่ภูมิภาคไหนก็จะมี “สมาคมชาวปักษ์ใต้” สะท้อนว่า คนปักษ์ใต้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความรักใคร่ โดยบุคคลที่จะทำให้พวกเขาได้รับสิ่งที่ดีงามเช่นนี้ ก็คือพวกเราทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบัน สอนสั่งแนะนำให้เขาได้ช่วยเหลืองานบ้าน ช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือสังคม ด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า การเป็นทหารเสือพระราชาผู้บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ สิ่งที่ทุกคนต้องทำคือ 1 ต้องช่วยกันศึกษาเรียนรู้ โดยใช้ช่วงเวลาอันมีค่าตลอด 5 วัน 4 คืนนี้ ศึกษาองค์ความรู้และวิธีการถ่ายทอดเรื่องราว เพื่อที่จะได้ช่วยกันทำประการที่ 2 คือ การขยับขยายบอกเล่าเรื่องราว ผ่านเทคนิค วิธีการ โอกาส และเวลาที่เหมาะสม อันจะนำมาสู่การเสริมสร้างความผูกพันของลูกหลานต่อบรรพชนไทย โดยมี “สถาบันพระมหากษัตริย์ ” เป็นหลักชัยของประเทศไทย ในการธำรงค์ไว้ซึ่งความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระแม่ของแผ่นดินผู้ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้พระองค์ท่านเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งนี้ พระองค์ทรงมีความห่วงใย และพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ต่อมหาสมาคม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่สะท้อนถึงความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ความตอนหนึ่งว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย …ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ…ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์…อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย

” ซึ่งพระราชดำรัสองค์นี้ สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงตระหนักและให้ความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะมีผลต่อความมั่นคงของชาติ ที่พวกเราต้องน้อมนำมาศึกษา ทำความเข้าใจ และยึดเป็นหลักชัยในการหนุนนำให้พวกเรามีกำลังใจไปกระตุ้นให้พื้นที่ของเราไม่ลืมเลือนที่จะพูดคุย เรียนรู้ ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้กับลูกหลาน” ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปี”และนับเป็นความโชคดีของคนไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งต่อมาพระองค์ท่านยังได้พระราชทานพระราชดำรัสขยายความพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด” และ “สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยเฉพาะในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย พระองค์ทรงให้ความสำคัญ ด้วยทรงมุ่งมั่นในการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงมีพระราชดำรัสขยายความคำว่า “ประวัติศาสตร์” พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ประเทศชาติก็คือบ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ สังคมต่าง ๆ ก็ลงมาอยู่ที่พื้นฐานก็คือครอบครัวและลงมาอยู่ที่ตนเอง บ้านเมืองของเรา ประเทศของเรา หรือบ้านหรือครอบครัวของเราเนี่ย จะมีความสุขปลอดภัย น่าอยู่ สบาย มันก็ขึ้นกับคนรุ่นเราในอนาคต…แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเอาบทเรียนมาใช้…เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะเราคืออนาคต ประวัติศาสตร์มาปัจจุบัน ปัจจุบันก็คืออนาคต ปัจจุบันถือไมโครโฟน พอวางลงก็เป็นอดีต เมื่อเราจับไมโครโฟนมาใหม่ก็เป็นปัจจุบัน…ถ้าเราอยากเรียนลัด ก็ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้มาก ว่าสมัยก่อนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนั้น แล้วปัจจุบันเราจะทำอย่างไรให้เรามีความรู้ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่จะรักษาประเทศชาติบ้านเมือง อย่างน้อยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นกำลังใจให้…” สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้เราเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม และการเรียนประวัติศาสตร์จะเป็นทางลัดให้เราได้นำไปวิเคราะห์เพื่อเป็นบทเรียนในการปฏิบัติตนและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า

“บ้านเมืองต้องมีคนที่เสียสละ ทำสิ่งดีงามเพื่อประเทศชาติ เพื่อส่วนรวม เพื่อคนอื่น โดยไม่คิดหวังผลตอบแทนในรูปเงินทอง” จึงพระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน และโครงการพระราชดำริมากมาย เพื่อให้เราทุกคนช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด รื้อฟื้นสิ่งที่ดีให้กลับคืนมาสู่สังคมไทย ซึ่งเรื่องประวัติศาสตร์ เราจะโทษลูกหลานว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะยังไม่มีใครบอกว่าสิ่งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้บุคลากรตลอดคนนักเรียนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีองค์ความรู้วิชาประวัติศาสตร์ ด้วยการออกข้อสอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยร้อยละ 10 ในการสอบบรรจุเข้ารับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย และบรรจุวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และจริยธรรมลงในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้เป็นเวลา 5 ชั่วโมง สัปดาห์

“ขอให้ทุกท่านเป็นทหารเสือพระราชาผู้เป็นขุนศึกที่มีใจ (Passion) ทำให้คนตื่นตัวเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์มีหลายวิธี วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การพูดคุย บอกเล่า หรือในรูปแบบการจัดงานรำลึก งานวัด งานประเพณี โดยพวกเราทุกคนต้องช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้วิธีการต่าง ๆ โดยเราจะเป็นทหารเสือพระราชาที่ดีที่สุดได้ด้วยการ “ลงมือทำทันที (Action Now)” เพราะการบูชาที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติบูชา อันเป็นการบูชาที่เหนือกว่าการบูชาด้วยสิ่งอื่นใด ในฐานะพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในฐานะคนไทยที่ไม่ยอมเสียโอกาสในการตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินไทย ทำความดีด้วยหัวใจโดยไม่มีเครื่องแบบ เพื่อคนรุ่นต่อไปจะมีสิ่งที่ดีของชีวิต โดยกระทรวงมหาดไทยจะมอบบัตรประจำตัวจิตอาสาผู้ถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ฯ และวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมทุกคน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย