นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 39,274 ล้าน ลบ.ม. (51% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 10,259 ล้าน ลบ.ม. (41% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ตั้งแต่ 1 พ.ค. 67 จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนปี 67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 3,053 ล้าน ลบ.ม. (20% จากแผนฯ) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,124 ล้าน ลบ.ม. (23% จากแผนฯ) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ทั้งประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกแล้ว 1.25 ล้านไร่ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้วประมาณ 0.96 ล้านไร่ ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 3 เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 4/2567 เรื่องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ตั้งแต่วันที่ 21-26 พ.ค. 67 ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และ ภาคใต้ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา และนราธิวาส

กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา ควบคู่กับการตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ที่สำคัญให้กำจัดผักตบชวา/สิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฝนปี 67 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด

กรมชลประทาน ได้บูรณาการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้ตลอดเวลา หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรฯ สายด่วน 1460 ชลประทานบริการประชาชน