เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยถึงกรณีข่าวจะมีพายุ 2 ลูกเข้าไทยว่า จากข้อมูลโมเดลติดตามพายุ ตอนนี้เป็นที่แน่นอนว่าจะเกิดพายุ 1 ลูก จะพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงเย็นวันนี้ (6 ต.ค.) และคาดว่าจะพัฒนาเป็นพายุโซนร้อน ชื่อ ไลออนร็อค ต่อไป โดยทิศทางการเคลื่อนตัวจะเข้าฝั่งประเทศเวียดนามตอนเหนือ ประมาณวันที่  11 ต.ค. และจะอ่อนกำลังลงสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ เนื่องจากมีความกดอากาศสูงหรือความเย็นเข้ามาปะทะ และเมื่อมาถึงประเทศไทยอาจจะไม่ใช่พายุแล้ว อย่างไรก็ตามจะมีอิทธิพลทำให้ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักได้ตั้งแต่วันที่ 11-13 ต.ค.

ส่วนพายุลูกที่ 2  ที่มีข่าวว่าชื่อ “คมปาซุ” นั้น ขณะนี้มีข้อมูลชี้ให้เห็นว่าอาจจะมีการพัฒนาตัวขึ้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำได้บริเวณตอนบนของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งหากมีการพัฒนาก็คาดว่าจะเป็นพายุดีเปรสชันได้ในวันที่ 13-15 ต.ค. แต่กรมอุตุฯ จะให้ชื่อได้ต่อเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเท่านั้น ส่วนแนวโน้มการเคลื่อนตัวนั้นก็ยังไม่ชัดเจนขึ้น ขึ้นอยู่กับทิศทางลม มีความเป็นไปได้สองกรณี คือ เคลื่อนที่ไปตะวันตกค่อนไปทางเหนือ ซึ่งอาจจะพัดเข้าตอนใต้ของประเทศจีน หรือเคลื่อนเข้าฝั่งเวียดนามตอนบน แต่หากเจอลมเหนือก็จะอ่อนกำลังลงก่อนเข้าไทย ซึ่งกว่าจะเข้าไทยจะใช้เวลา 5-6 วันหลังก่อตัวเป็นพายุ ทางกรมอุตุฯ มีการจับตาเฝ้าติดตามอยู่ตลอด หากเกิดเป็นพายุมีผลกระทบต่อประเทศไทยจะมีการแจ้งเตือนอย่างแน่นอน

“อยากให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ขอให้ติดตามการพยากรณ์แจ้งเตือนจากกรมอุตุฯ ซึ่งมีเครื่องมือโมเดลติดตามการพัฒนาตัวของพายุตลอด 24 ชั่วโมง และใช้ถึง 3 โมเดลเพื่อความแม่นยำ หากก่อตัวเป็นพายุเป็นหน้าที่ ที่กรมฯ จะประกาศแจ้งเตือนประชาชนอย่างแน่อนอน ซึ่งขณะนี้พายุลูกที่ 2 ตามข่าว ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะก่อตัวเป็นพายุและมีทิศทางเคลื่อนตัวที่แน่ชัดอย่างไรเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น” นายณัฐพล กล่าว