วันนี้ (14 ต.ค.) ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เพื่อยื่นหนังสือและหลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยหวังให้รัฐบาล ช่วยผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย จำหน่ายได้ในประเทศไทย

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ขอเข้าพบ และยื่นหนังสือ เพื่อช่วยผลักดันเรื่องนี้ถูกกฎหมาย ซึ่งในส่วนของดีอีเอส มีหน้าที่ดูเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ก็พบว่ามีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าตามสื่อออนไลน์ แม้จะปิดกั้นไปแล้ว ก็มีการลักลอบเปิดใหม่ จึงมองว่าเรื่องนี้สามารถทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายได้หรือไม่ ในเมื่อในต่างประเทศ กว่า 67 ประเทศ ถูกกฎหมาย รวมถึงประเทศที่มีความเข้มงวดเรื่องดูแลสุขภาพประชาชนอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ก็เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และเป็นทางเลือกให้กับผู้สูบบุหรี่ และหากไทยทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายจะช่วยลดการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ามาสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)” กล่าวว่า วันนี้มาเป็นตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในไทยและทั่วโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในไทยด้วย ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ รมว.ดีอีเอส ที่เปิดโอกาสให้เข้าพบยื่นหนังสือและนำหลักฐานมอบให้ ถึงความเดือดร้อน และขอชื่นชมที่ท่านกล้านำเสนอและยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ และมีเฟคนิวส์บิดเบือนข้อมูลต่างๆ ซึ่งหากศึกษาจริงๆแล้วมีหลายประเทศที่สนับสนุนให้ประชาชนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่แบบปกติเพราะมีสารพิษน้อยกว่า ตรงข้ามกับประเทศไทยที่กลุ่มแพทย์และเอ็นจีโอสายสุขภาพพยายามออกมาคัดค้านด้วยข้อมูลที่แตกต่างกันไป แต่ก็ยืนยันต้องแบนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

สิ่งที่ตามมาหลังรัฐบาลออกคำสั่งว่าผิดกฎหมาย คือ มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น รีดไถประชาชน และนักท่องเที่ยว รวมถึงรัฐบาลสูญเสียโอกาสในการเก็บภาษี และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูญบุหรี่แบบปกติก็ยังสูงอยู่ หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกกฎหมายปัญหาในเรื่องเหล่านี้ก็จะรุนแรงขึ้นอีก จึงอยากให้มีการศึกษาในเรื่องด้วยความเป็นกลางและเป็นธรรม

“เมื่อบุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมาย เมื่อถูกให้อยู่ใต้ดิน จึงมีการลักลอบขาย ซึ่งงานวิจัยพบว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามีการเติบโตขึ้นทุกปี ๆ ละ 100-200% จึงน่าเสียดายที่ตัวเลขเงินเหล่านี้สามารถนำมาแปรเปลี่ยนช่วยเหลือเกษตรกร หรือผู้ป่วย และช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่น การจับกุม เรียกรับสินบน ฯลฯ นอกจากนี้ยงมีเรื่องความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมาย โดยถูกแบนมา 7 ปี แต่นักสูบหน้าใหม่ ๆ ยังเพิ่มขึ้นทุกปี ควรจะทบทวนและนำขึ้นมาทำให้ถูกกฎหมายหรือไม่”

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า หลังรับหนังสือแล้วจะรวบรวมข้อมูล นำไปประสานผู้เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและทบทวนแนวคิด  และต้องไปศึกษาต่อไปว่าข้อติดขัดอยู่ที่ภาคส่วนใด อย่างเช่น ในเรื่องใบอนุญาตให้ใช้ การขาย การผลิต เพราะจากที่ศึกษาเบื้องต้นในแง่กฎหมายน่าจะใช้ พ.ร.บ.ยาสูบฯ ควบคุมให้เข้ามาอยู่ในระบบได้อยู่แล้ว คงต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากบางคนไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ แม้จะมีการรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังมีจำนวนผู้สูบบุหรี่อีกเกือบ 10 ล้านคน

“หลายประเทศยอมรับว่า หากเรามีบุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถลดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนได้มากกว่า เรื่องนี้ผมขอศึกษาข้อกฎหมายก่อน นอกจากนี้ ปัจจุบันทราบว่าโรงงานยาสูบและผู้ปลูกยาสูบเองก็มีรายได้ลดลง เนื่องจากคนนิยมไปสูบบุหรี่นำเข้า หรือบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามา ดังนั้น ถ้าเราสามารถเอายาสูบที่ปลูกในประเทศมาผลิตบุหรี่ไฟฟ้าได้ จะสามารถแก้ปัญหาให้กับโรงงานยาสูบและเกษตรกรได้ รวมทั้งส่งออกได้ด้วย” นายชัยวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้มีข้อมูลจากรายงานเรื่อง E-cigarettes: an evidence update จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ระบุว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป ส่งผลกระทบด้านสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปร้อยละ 95 พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากมีหลักฐานผู้เลิกบุหรี่ได้ในกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอัตราที่สูง