ภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของ “นายกฯ อิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ หลังกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พรรคเพื่อไทย (พท.) มีมติขับ “พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)” ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พ้นจากรัฐบาล แต่ยังมี สส.ที่อยู่ในความดูแลของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพปชร. ซึ่งมีประมาณ 30 ชีวิต ซึ่งรวมถึงพรรคเล็กร่วมอยู่ด้วยมาเสริมความแข็งแกร่งให้ และด้วยปัญหาในข้อกฎหมาย และข้อบังคับพรรค พปชร.

“ร.อ.ธรรมนัส” จึงเดินเกมเสนอชื่อคนนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพรรค พปชร. โดยมีชื่อ “อาจารย์แหม่ม” นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ มานั่งเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นโควตาของคนนอก ส่วน รมช.เกษตรฯ จะเสนอชื่อ “นายอัครา พรหมเผ่า” น้องชายของ ร.อ.ธรรมนัส ที่เป็นสมาชิกพรรค พท. นอกจากยังดึง “นายอิทธิ ศิริลัทธยากร” บิดาของนายอรรถกร มาเป็นรัฐมนตรีแทน เนื่องจากถ้าตั้งบุตรชายมาเป็น รมต. อาจมีปัญหาในด้านกฎหมายเนื่องจากเป็นหนึ่งในรายชื่อที่พรรค พปชร.เคยเสนอชื่อให้เป็น รมต.

อย่างไรก็ตามดูเหมือน “พปชร.” จะเดินเกมโต้กลับพรรค พท. หลัง “พล.อ.ประวิตร” ได้ทำหนังสือเรียกประชุม กก.บห. ในวันที่ 29 ส.ค. 67 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 5 ที่ทำการพรรค พปชร. โดยขอให้เข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียงกัน ต้องจับตาบทสรุปของการประชุมจะมีแนวทางอย่างไร

ขณะที่ “นายสามารถ เจนชัยจิตรวานิช” สมาชิกพรรค พปชร. ในฐานะคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร ให้ความเห็นกรณีภายหลังพรรค พท.มีมติขับพรรค พปชร.ออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ต้องมาแสดงความชัดเจนให้กับพรรค พปชร. ยืนยันว่าหลังจากนี้ทางพรรคจะมีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้แน่นอน ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ถูกถอดถอนจากศาล รธน. แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เดินทางไปบ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งมีข้อมูลมารายงานถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะให้นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกฯ 3 เดือน และจะให้ทุกคนอยู่ตำแหน่งเดิม แต่สุดท้ายกลับเป็น น.ส.แพทองธาร ไม่ทราบว่าการที่พรรค พท.ไปทาบพรรคอื่นมาแทนได้ถาม น.ส.แพทองธารแล้วหรือไม่  เมื่อถามอีกว่าจะมีการเอาคืนหรือไม่ นายสามารถ กล่าวว่า ไม่เอาคืน แต่ใช้กระบวนการกฎหมาย ทั้งนี้เกิดมาไม่เคยเห็นการโหวตไปก่อนแล้วมาหักหลังกันทีหลัง

นอกจากนี้ “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรค พปชร. ก็เริ่มเดินเกมในการตรวจสอบนายกฯ คนที่ 31 โดยได้ทำหนังสือส่งถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผ่านทางไปรษณีย์อีเอ็มเอสให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ กรณีทำหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทต่างๆ ในเครือชินวัตร 21 บริษัท เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 67 มีจริงหรือไม่ เพราะพบว่ามีการไปจดทะเบียนแจ้งลาออกต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันที่ 19 ส.ค. 67 หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 67 แล้ว

จึงมีเหตุควรสงสัยเป็นการทำหนังสือลาออกย้อนหลังหรือไม่ ถ้า น.ส.แพทองธารทำหนังสือลาออกตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.จริง เหตุใดไม่ไปยื่นจดทะเบียนลาออกต่อกรมการพัฒนาธุรกิจการค้า ในวันที่ 16 ส.ค. ซึ่งเป็นวันศุกร์ แต่ไปแจ้งจดทะเบียนวันที่ 19 ส.ค. ห่างกัน 4 วัน  กกต.ควรตรวจสอบวันที่ลาออกจริงคือวันใด มีการทำเอกสารย้อนหลังหรือไม่ หากพบว่า มีการลาออกหลังวันที่ 16 ส.ค. จะมีผลให้ความเป็นนายกฯ ของ น.ส.แพทองธาร สิ้นสุดลงตาม รธน. มาตรา 187 หรือไม่ ที่ห้ามรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน บริษัท และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม รอให้หน่วยราชการส่งข้อมูลมาให้ จะนำมาตรวจสอบส่งให้ กกต.พิจารณาต่อไป

ถ้าหากตรวจสอบพบ “น.ส.แพทองธาร” ลาออกจากกรรมการบริษัทเอกชนในวันที่ 19 ส.ค. หลังได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ในวันที่ 16 ส.ค. อาจกลายเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ต้องรอดูคำชี้แจงของหัวหน้ารัฐบาลจะมีคำตอบในเรื่องนี้อย่างไร นั่นหมายความว่า พปชร.ไม่ยอมให้ตนเองถูกกระทำฝ่ายเดียวแน่ๆ

ขณะที่พรรค พท. เดินหน้าดึง “พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” ร่วมรัฐบาล โดย “นายสรวงศ์ เทียนทอง” สส.สระแก้ว ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. ยื่นหนังสือเทียบเชิญพรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลแก่ “นายเดชอิศม์ ขาวทอง” สส.สงขลา ในฐานะเลขาธิการพรรค ปชป. โดยมี สส.ของทั้ง 2 พรรคร่วมเป็นสักขีพยาน

ด้าน “นายสรวงศ์” กล่าวว่า ในอดีตอุดมการณ์ทางการเมืองของ พท.และปชป.ไม่เหมือนกันเลย แต่วันนี้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารพรรค หัวหน้าทั้ง 2 พรรค รวมถึงเลขาฯ และสมาชิกพรรคทุกคนมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเพราะประเทศชาติถอยหลังไปมาก ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องเดินหน้าร่วมกัน อะไรไม่เข้าใจกัน หรือความขัดแย้งต้องทิ้งไว้ข้างหลัง ส่วนน้องเสื้อแดงวันนี้ก็ได้พูดคุยกันอยู่ และเห็นตรงกันว่าถ้าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมทุกคนเข้าใจ

ส่วน “นายเดชอิศม์” กล่าวว่า เรามีแต่ความรักความเข้าใจและการให้อภัยกัน อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์เมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา กับปัจจุบันไม่เหมือนกัน ปัญหาของประเทศ แนวคิด การพัฒนาประเทศไม่เหมือนกัน ดังนั้นพอถึงเวลาที่เราพูดคุยกันได้ ที่เรารักกัน เป็นสิ่งที่ดีงาม เมื่อถามว่ากลุ่มของนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้า ปชป. คัดค้านการร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. นายเดชอิศม์ กล่าวว่า เมื่อมีมติของพรรคก็ต้องปฏิบัติตาม ถ้ามีคนในพรรคโหวตแตกต่างจากมติของพรรคคงทำเช่นนั้นไม่ได้ ขอย้ำว่าไม่เกี่ยวกับพรรค พปชร. แต่เป็นเรื่องของพรรค ปชป.และพรรค พท. พร้อมระบุว่า ได้โควตารัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง ส่วนจะเป็นกระทรวงไหน เป็นรัฐมนตรีว่าการ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการนั้น เป็นเรื่องของนายกฯ 

ขณะที่ “น.ต.สุธรรม ระหงส์” รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการพรรค ปชป. ชี้แจงว่า เมื่อพรรค พท.ส่งเทียบเชิญพรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาล คาดว่าจะประชุม กก.บห. ในวันที่ 29 ส.ค. เวลา 17.00 น. จากนั้นจะเป็นการประชุมร่วมระหว่าง กก.บห.กับ สส.พรรค ในเวลา 19.30 น. เนื่องจาก สส.มีประชุมร่วมรัฐสภาและประชุมสภา ในวันที่ 29 ส.ค. จึงต้องรอให้ สส.ได้ประชุมเสร็จก่อน จึงจะประชุมร่วมกก.บห.ได้ โดยองค์ประชุมร่วมของพรรคฯ นั้น มีจำนวน 53 คน แบ่งเป็น กก.บห. 38 คน และสส. 25 คน ทั้งนี้มี สส.ที่เป็น กก.บห.ด้วย 10 คน  เมื่อถามว่าการประชุมจะเป็นในลักษณะว่าร่วมรัฐบาลและส่งชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรีใช่หรือไม่ น.ต.สุธรรม กล่าวว่า ใช่ เพราะมีวาระเดียวคือการเข้าร่วมรัฐบาล และการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะเป็นไปตามข้อบังคับพรรคทั้งหมด อย่างไรก็ตามคาดว่าน่าจะใช้เวลาการพิจารณาพอสมควร ส่วนชื่อบุคคลที่จะไปเป็นรัฐมนตรีนั้นอยู่ที่ที่ประชุมว่าจะเสนอไปกี่คน

ต้องรอดูท่าทีบรรดาผู้อาวุโสของพรรค ปชป. โดยเฉพาะ “นายชวน หลีกภัย” อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ที่คัดค้านการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. เพราะสมัยพรรค พท.เป็นรัฐบาลมีนโยบายไม่ให้งบประมาณพัฒนากับพื้นที่ที่ไม่เลือก สส.พรรค พท. แต่ดูแนวโน้มแล้วเสียงส่วนใหญ่ของพรรค ปชป. ควรจะเห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล

ก่อนหน้านั้น “นายชวน” ให้ความเห็นภายหลังพรรค พท.ส่งหนังสือเชิญพรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาล ว่า ยืนยันจุดยืนเดิมว่าไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลพรรค พท. กรณีที่บอกกันว่าเขามาเชิญพรรค ปชป.ไปร่วมรัฐบาลนั้น คิดว่าที่จริงแล้ว คนของพรรคไปติดต่อเขาก่อน เขาจึงมาเชิญ หรือไปขอให้เขามาเชิญด้วยซ้ำ แต่เคารพมติของพรรค ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนการตัดสินใจร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ จะส่งผลต่อฐานเสียงภาคใต้ไม่น้อย ทั้งนี้ขอย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของคนบางกลุ่มที่ใช้ตำแหน่งในพรรคเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเอง ส่วนเรื่องที่จะขับตนออกจากพรรคฯ ก็มาดูว่าใครเป็นคนพูด เมื่อทราบก็เข้าใจ เพราะเพิ่งเข้าพรรคมาอาศัยบารมีของพรรคที่คนรุ่นก่อนเขาสร้างมา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค คนที่ 9 ก็ยังไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้พรรคเท่ากับรุ่นก่อน ดังนั้นใครที่คิดจะปลดผม ต้องดูกฎหมายว่าไม่ได้กำหนดอายุ ผมยังทำหน้าที่ของตัวเองอยู่

ถือเป็นความเห็นที่แรงมาก ดังนั้นต้องรอดูว่าแกนนำพรรค ปชป. ที่มีอำนาจในการบริหารงานจะตอบโต้ผู้อาวุโสในพรรคอย่างไร

สำหรับความคืบหน้ารายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร 1 ในสัดส่วนของพรรค พท. ได้มีการส่งรายชื่อไปเกินกว่าจำนวนของโควตาของพรรค พท. เพื่อป้องกันบุคคลที่อาจจะมีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด โดยรายชื่อรัฐมนตรีที่คาดว่าจะเข้ามาแทนที่หรือสลับตำแหน่งรัฐมนตรีชุดเดิมในสมัยนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ปรากฏในขณะนี้คือ “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ จะนั่งตำแหน่งรองนายกฯ เพียงตำแหน่งเดียว โดยมี “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” มารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์  

สำหรับกระทรวงที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงไม่ลงตัว อย่างกระทรวงกลาโหม ล่าสุดยังคงเป็นชื่อของ “นายสุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหมคนปัจจุบันที่ยังคงครองไว้ได้ โดยคาดว่าจะมีรายชื่อของ พล.ท.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ อดีตนายทหารคนสนิทมือขวา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี มาช่วยเสริมทัพในตำแหน่ง รมช.กลาโหม ที่มาในโควตากลาง

โดยรัฐมนตรีที่คาดว่าจะหลุดจาก ครม.ชุดนี้ คือ นายจักรพงษ์ แสงมณี รมต.สำนักนายกฯ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา คงต้องรอบทสรุปว่า ในที่สุดครม. “อิ๊งค์ 1″ จะเป็นไปตามโผหรือไม่ เพราะยังมีตัวแปรหลายด้าน ทั้งการตัดสินใจของผู้มากบารมี และเรื่องคุณสมบัติที่เป็นปัญหาในข้อกฎหมาย