เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า ช่วงนี้ราคาผักชี ผักชีล้อม (ขึ้นฉ่าย) มีราคาที่แพงมาก และไม่ทราบสาเหตุว่ามาจากอะไร ซึ่งราคาสูงถึง 350 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ผักบางชนิดก็มีราคาคงที่หรือถูกลงด้วยซ้ำ ทางผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปที่ตลาดศรีเมือง ซึ่งเป็นตลาดกลางในการค้า-ส่ง ผักและผลไม้ ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดราชบุรี โดยมีนายกฤช รังสิเสนา ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการตลาดศรีเมือง ร่วมลงตรวจสอบด้วย

ภายหลังพบว่า ผักชีและขึ้นฉ่าย ตามร้านค้ามีราคาขึ้นสูงจริง โดยพ่อค้าและแม่ค้าหลายราย อ้างว่า เกิดจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ผักชีเน่าเสียจนขาดตลาด ส่งผลให้เกิดความต้องการของผู้บริโภค ทำให้เกิดราคาสูงขึ้น ซึ่งในครั้งนี้ถือว่าราคายังไม่ได้แพงที่สุด เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เคยมีราคาสูงถึง 340-350 บาท ราคานี้สำหรับตลาดกลางและยังไม่ถึงมือผู้บริโภค

ด้าน น.ส.อัจฉรินธร สุภานนท์ชัย อายุ 39 ปี ผู้ประกอบการค้าส่งผักชี เปิดเผยว่า ตอนนี้ราคาผักชี มีราคาถึง 260-300 บาท ยอมรับว่ามีราคาแพงมาก เนื่องจากผักถูกน้ำท่วมไปเยอะมาก ทำให้สินค้าน้อยลงแต่ความต้องการยังเยอะอยู่ ซึ่งไม่ใช่แค่ผักชีอย่างเดียว ผักอื่น ๆ ก็แพงขึ้นแทบทุกตัว เพราะเกษตรกรโดนน้ำท่วมเยอะ ถือว่าตอนนี้ยังไม่แพงมาก เพราะเมื่อ 3-4 ปีก่อน เคยมีราคาสูงถึง 350 บาท แต่ในตอนนี้ก็ถือว่าแพงมากแล้ว เพราะตอนนี้คนซื้อก็ไม่ค่อยมีกำลังจะซื้อแล้ว แต่ด้วยความว่าของไม่มีจริง ๆ เลยจำเป็นจะต้องซื้อ

ขณะที่ นายกฤช กล่าวว่า ในกรณีของการกำหนดราคาซื้อขายผัก ผลไม้ ในตลาด ทางตลาดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดราคา ซึ่งเป็นไปตามระบบของ ดีมานด์-ซัพพลาย ซึ่งผักก็ไม่ได้ขึ้นราคาทุกอย่าง เช่น ผักชี, ขึ้นฉ่าย มีราคาขึ้น สาเหตุจากฝนตกน้ำท่วม ราคาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ค่ายา มีฝนตกทำให้ผักเสียหาย ทำให้ปริมาณการผลิตออกมาที่น้อย และความต้องการของตลาดสูง ในอาทิตย์ที่แล้ว ผักชีมีราคา 150- 200 บาท ในขณะที่กรุงเทพฯ ราคาอยู่ที่ 250-300 บาท ในวันนี้ราคาผักชีถ้าสวย ๆ ราคาที่ จ.ราชบุรี จะอยู่ที่ 250-300 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ ราคาอาจจะอยู่ที่ 300-350 บาทขึ้นไปแล้วก็เป็นได้ และยิ่งสินค้าไม่มี ทางแม่ค้าพ่อค้าก็จะต้องหาผักมาขาย ให้ได้ยิ่งทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีกด้วย

“…ส่วนกรณีที่บางช่วงพบว่า ผักชีมีราคาที่ถูก กก.ละ 20-30 บาทนั้น เป็นเพราะอยู่ในฤดูกาล แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่ตลาดกำลังต้องการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการส่งออกไปยังภาคใต้ หาดใหญ่ สงขลา มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นที่ต้องการ 1-2 ตันต่อวัน มันเป็นกลไกของการตลาดที่เกิดขึ้น ทางตลาดศรีเมืองเอง เพียงแค่อำนวยความสะดวกจัดสถานที่ให้ผู้ประกอบการมีการรับซื้อขาย โดยไม่มีพ่อค้าคนกลาง…” นายกฤช กล่าวว่า