“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุ เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในกรอบผันผวน แต่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ ขาดแรงหนุนหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ย่อตัวลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 1.60%

อย่างไรก็ดีเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ตามค่าเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อสัญญาณเปราะบางของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน แต่เงินบาทสามารถพลิกกลับมาแข็งค่าอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินดอลลาร์ ถูกดดันจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐ ที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทั้งนี้ในวันศุกร์ (29 ต.ค.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 33.39 บาทต่อดอลลาร์ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (21 ต.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางอังกฤษ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ต.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือน ก.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ต.ค. ของจีน ยูโรโซน อังกฤษด้วยเช่นกัน