ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โครงการ U2T ต้องขอชื่นชมมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่นำเอางานวิจัยและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยชาวบ้าน เอาบัณฑิต นักศึกษา และมหาวิทยาลัยไปทำงานกับชุมชนอย่างเป็นระบบ ทำให้ชาวบ้านพึงพอใจมาก เพราะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ และยังเรียกร้องให้มีโครงการนี้ต่อในปีต่อไป ซึ่งตนมองว่าชาวบ้านนี่แหละคือตัวบ่งชี้และพิสูจน์ได้ว่าโครงการนี้สามารถทำประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้นำงานวิจัยของ อว. มาช่วยเกษตรกรยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น งานวิจัยของ วว. ทำสารสกัดมูลค่าสูงจากพืชผลการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และมีความมั่นคงทางรายได้มากกว่าการพึ่งพาการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรแบบทั่วไปและการท่องเที่ยวเท่านั้น

สำหรับ U2T ตำบลศรีสุนทร U2T ศรีสุนทร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เน้นการพัฒนาระดับ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านอาหาร พัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะเม่า ได้แก่ แยมมะเม่า ไซรัปมะเม่า และผ้ามัดย้อมจากสีมะเม่า ผลิตภัณฑ์จากกระเจี๊ยบเขียว ผงกระเจี๊ยบเขียว ขนมพื้นบ้าน ได้แก่ วุ้น ขนมถ้วยและตะโก้จากกระเจี๊ยบเขียว 2. ด้านการเกษตร ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนสู่ชุมชน 3. ด้านการท่องเที่ยว พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ ต.ศรีสุนทร  

สำหรับการพัฒนาอาชีพ แบ่งเป็น 1. ผลิตภัณฑ์จากกระเจี๊ยบเขียว ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านม่าหนิก ต.ศรีสุนทร มีการปลูกพืชระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และเน้นพืชสวนสมุนไพรที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้มีความน่าอยู่ น่าอาศัย มีกินมีใช้ เกิดรายได้ โดยมีกระเจี๊ยบเขียวฝักยาวที่เป็นพืชหลัก มหาวิทยาลัยลัยราชภัฏภูเก็ต ได้ทำการวิจัยให้ทางชุมชนและค้นพบว่าน้ำเมือกของกระเจี๊ยบเขียว สามารถนำมาใช้เป็นเรื่องของเวชสำอางได้ จึงพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นเพื่อ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน นอกจากผลิตภัณฑ์เวชสำอางแล้ว สมาชิกศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านม่าหนิกยังต้องการแปรรูปกระเจี๊ยบเขียวเป็นขนมไทย เพื่อให้รับรองคณะผู้มาศึกษาดูงาน มหาวิทยาลัยจึงได้ศึกษาและพัฒนาผลอบแห้งและน้ำเมือกของกระเจี๊ยบเขียวฝักยาวมาเป็นส่วนผสมของขนมไทย โดยพัฒนาสูตรมาเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน จึงสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของขนมไทยดังนี้ ขนมถ้วยกระเจี๊ยบเขียว วุ้นกะทิกระเจี๊ยบเขียว ตะโก้กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบเขียวฉาบ

นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีหมากเม่าเป็นพืชที่ปลูกมากในพื้นที่ ต.ศรีสุนทร โดยจะออกผลเพียงปีละครั้ง ชาวบ้าน ไม่ได้นำผลหมากเม่ามาใช้ประโยชน์ ผลของหมากเม่าจะเน่าเสียและทิ้งในที่สุด ทีม U2T ศรีสุนทร ได้เล็งเห็นโอกาสและต้องการส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ศรีสุนทร แปรรูปหมากเม่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการสร้างอาชีพเสริมรายได้ เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยทางทีมได้พัฒนาสูตรมาเป็นระยะเวลา กว่า 4 เดือน ลองผิดลองถูกจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จากมะเม่า ได้แก่ แยมมะเม่า ไซรัปมะเม่า และสีย้อมผ้าจากมะเม่า โดยได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติ กลุ่มพัฒนาสัมมาชีพ ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) เพื่อเผยแพร่และฝึกฝนชาวบ้านเพื่อสร้างรายได้และอาชีพเสริมต่อไป