เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่เปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.64-1 ม.ค.65 พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสม 1,551 ราย แบ่งเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 779 รายและติดในประเทศ 772 ราย โดยข้อมูลวันที่ 1 ม.ค. เพิ่มขึ้น 189 ราย แบ่งเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ  68 ราย และติดในประเทศ 121 ราย พบแล้วใน 47 จังหวัด จังหวัดที่พบมากสุด คือ กทม. 395 ราย กาฬสินธุ์ 195 ราย ชลบุรี 148 ราย ภูเก็ต 125 ราย และ ร้อยเอ็ด 119 ราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก็เป็นไปตามที่คาดสถานการณ์ไว้ว่า จะพบการติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นหลังปีใหม่ ทั้งนี้เมื่อประชาชนเริ่มกลับมาทำงานแล้ว ก็ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ออกมาตรการให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (work for home) ให้มากที่สุด เพื่อประเมินสถานการณ์ประมาณ 2 สัปดาห์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงปีใหม่ประชาชนให้ความร่วมมือดีบ้าง ไม่ดีบ้าง กรุงเทพฯทรงๆ ตัว และค่อย ๆ ลดลง ส่วนจังหวัดที่กำลังระบาดเยอะคือ จังหวัดชลบุรี และอุบลราชธานี เนื่องจากจังหวัดชลบุรีมีคนค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่เป็นคนงานในโรงงาน บางครั้งมีการจัดกิจกรรมเลี้ยงสังสรรค์ จึงได้กำชับให้ระมัดระวังเรื่องการเดินทางกลับบ้าน และหลังปีใหม่หากเป็นไปได้โรงงานไม่ต้องปิดดำเนินการ แต่ขอให้ตรวจ ATK พนักงานก่อนเข้าทำงาน และสุ่มตรวจเป็นระยะๆ เพื่อจับสัญญาณการระบาดให้เร็วที่สุด ส่วนสถานการณ์ที่จังหวัดอุบลราชธานี วันนี้ (2 ม.ค.) ตนได้ลงพื้นที่มาติดตามคลัสเตอร์ซึ่งพบว่ามีลักษณะคล้ายกับคลัสเตอร์ที่กาฬสินธุ์ คือ กรณีร้านอาหารกึ่งผับที่มีคนเข้าไปเที่ยวต่อเนื่องจากผับแห่งหนึ่ง ไปอีกแห่งหนึ่ง

“ตอนนี้ที่ผมจับตาอยู่คือ 2 จังหวัดนี้ คือ ชลบุรี และอุบลฯ อย่างสถานการณ์ที่อุบลฯ นั้นพบมีผู้ติดเชื้อวันหนึ่งขึ้นไป 300 คน และขึ้นค่อนข้างเร็ว ต้องติดตามรายละเอียดกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี (สสจ.) อีกครั้งว่าจะต้องมีมาตรการอย่างไร จะต้องปิดอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่คนกำลังเดินทาง ขอให้ดำเนินการตรวจ ATK เป็นระยะๆ อย่างน้อยกลับมาก็ตรวจ หากมีอาการก็ตรวจอีก หรือตรวจหลัง 7 วัน ย้ำเลยว่า ATK ช่วงนี้สำคัญมาก “นพ.โอภาส กล่าว เมื่อถามว่า จะพิจารณาว่าถ้าผลตรวจ ATK พบติดเชื้อมากน้อยแค่ไหนถึงจะปรับมาตรการ นพ.โอภาส กล่าวว่า คงดูลักษณะการระบาดมากกว่าเพราะเท่าที่ดู ดูเหมือนอาการไม่รุนแรง เช่นที่อุบลฯ 95% อาการน้อยมาก เพราะฉะนั้นหากอาการน้อยจะใช้มาตรการ HI/CI  เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลโหลดเกินไป ขณะนี้ก็มีการประเมินสถานการณ์กันทุกวัน.