โครงการ Youth Ag Summit 2021 ด้วยความร่วมมือระหว่าง ไบเออร์ ครอปซายน์ ประเทศเยอรมนี ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เยาวชนประมาณ 100 คนจากทั่วโลก เสนอความเห็นในการจัดหาอาหารให้โลกอย่างเพียงพอสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งเยาวชนได้เรียนรู้ทักษะการเป็นผู้ประกอบการและความเป็นผู้นำ ได้รับการฝึกสอนจากที่ปรึกษา และปรับปรุงแนวคิดโครงการ “มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง” ของตนเองต่อไปตลอดระยะเวลา 10 สัปดาห์หลังจากการประชุมในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย น.ส.จิระรักษ์ เจริญดิสรณ์ เยาวชนหนึ่งเดียวจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมโครงการฯ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 แล้ว แต่เป็นครั้งแรกที่จัดการประชุมแบบออนไลน์

“โครงการนี้ให้ประโยชน์ทำให้ได้รู้จักกับผู้นำเยาวชนจากหลากหลายประเทศที่มีแนวความคิดไปในทิศทางเดียวกัน คือ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ภาคการเกษตร เป็นไปอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งบรรเทาปัญหาความมั่นคงทางอาหารในประเทศของตนเอง ปีนี้เป็นปีแรกที่ทางโครงการจัดสัมมนาแบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ข้อดีคือปีนี้โครงการได้จัดในระยะเวลา 6 เดือนต่อเนื่องกัน โดยจะเหมือนกับการได้เข้าคอร์สระยะสั้นที่มีความเข้มข้นมาก มีแขกรับเชิญที่สำคัญ ๆ ทั่วโลก มาแบ่งปันความรู้กับเยาวชนตลอดระยะเวลาโครงการ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงธุรกิจ วิทยาศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ ซึ่งช่วยให้เยาวชน สามารถปรับปรุงแก้ไขโครงการที่กำลังทำอยู่ไปในทิศทางที่ดีและยั่งยืน โดยส่วนตัวชอบฟังแนวคิดจากเยาวชนทั่วโลก ที่ได้แบ่งปันโครงการของตัวเอง ซึ่งทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่ายังมีคนอีกมากมายที่อยากสร้างสรรค์สังคมการเกษตรโลกไปในทิศทางของความยั่งยืนต่อสังคมและธรรมชาติ” น.ส.จิระรักษ์กล่าวถึงโครงการฯ

น.ส.จิระรักษ์ กล่าวเพิ่มเติม “อาชีพเกษตรกรถือเป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวรูปแบบหนึ่ง การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือผลผลิตผลิดอกออกผลจนขายได้กำไร ล้วนต้องมีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงิน สถานที่ บุคลากร ความรู้ และคอนเนคชั่น ซึ่งเป็นความท้าทายของเยาวชนรุ่นใหม่พอสมควร

ส่วนอีกด้านหนึ่งข้อได้เปรียบของเยาวชนรุ่นใหม่ก็มีมากมาย ทั้งด้านความสามารถในเทคโนโลยี การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับวิธีการทำเกษตรโดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เมื่อมีข้อมูลอย่างกว้างขวางและการสนับสนุนที่เข้าถึงได้ เชื่อว่าเกษตรกรยุคใหม่จะทำเกษตรกรรมด้วยความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมอย่างดีที่สุด สุดท้ายแล้ว ถ้าเยาวชนรุ่นใหม่มีใจที่อยากทำการเกษตร และมีต้นทุนที่เพียงพอในการเริ่มต้นและใจที่รักในการทำเกษตรกรรม อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่จะทำให้เรามีความสุขไม่แพ้อาชีพอื่น”

ข้อเสนอแนะ จาก น.ส.จิระรักษ์ “มุมมองว่าเกษตรกรไทยที่มีทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ ที่มีความรู้ความสามารถมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรเชิงอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูป หรือเกษตรเชิงท่องเที่ยว เนื่องจากได้รับการสนับสนุนในองค์ความรู้ที่หลากหลายจากทั้งทางภาครัฐและเอกชน แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับพวกเขาคือกลไกตลาด เกษตรกรรุ่นใหญ่ส่วนหนึ่งที่เป็นกระดูกสันหลังมานาน ขาดความสามารถในการแข่งขันกับระบบการตลาดในปัจจุบัน จึงไม่ควรละเลยพวกเขา ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการจัดการบริหาร ไม่ว่าจะจากทางภาครัฐหรือเอกชน เพื่อที่ผลผลิตทางการเกษตรจะมีราคาที่เหมาะสมกับทางผู้ผลิตและผู้บริโภค อยากให้ประเทศไทยมีการใช้สัญลักษณ์การค้าโดยชอบธรรม (Fairtrade) ที่จริงจังเหมือนต่างประเทศ ติดป้ายว่าผักถุงนี้ ผู้ผลิตจะได้รับกำไรคุ้มค่ากับกระบวนการผลิตของเขา และเชื่อว่าการแก้ที่ระบบ จะเป็นแรงผลักดันให้กับเกษตรกรมีแรงจูงใจในการผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้นทั้งต่อสุขภาพของตนเอง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม”