เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางหลังจากเพจเฟซบุ๊ก “วันนั้นเมื่อฉันสอน” บอกเล่าเรื่องราวของความลำบากในวิชาชีพครูที่นอกเหนือจากจะต้องสอนเด็กๆในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ต่าง ๆ นอกเหนือจากหน้าที่ครู เนื่องจากกำลังและงบประมาณจากฝ่ายงานเกี่ยวข้องไม่เพียงพอ แม้จะร้องไปยังฝ่ายงานเกี่ยวข้องให้ลงมาช่วยเหลือหลายครั้่ง หรือแม้แต่กระทรวงศึกษา ก็ยังไร้วี่แววเข้ามาช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวความไม่พอใจเกี่ยวกับอาหารกลางวันที่ทำให้เด็ก ทั้งในเรื่องคุณภาพอาหาร ปริมาณ ทั้งที่ฝ่ายครู ต้องผันตัวมาเป็นพ่อครัวแม่ครัวคอยทำอาหารกลางวันให้เด็ก

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการบอกเล่าเรื่องราวให้ฟังว่า “…สนับสนุนให้เอาอาหารกลางวันออกไปจากครู ให้ครูเลิกทำอาหารกลางวันไปเลย หน่วยงานไหนบริหารดีเข้ามาจัดการเลย ทำตัวชี้วัดความโปร่งใส ทำเอกสารเช็คลิสมาตรวจกันให้เต็มที่ อยากแบบสอนเสร็จส่งเด็กเข้าโรงอาหารเท่ ๆ แล้วจบทุกอย่าง อยากสอนไม่ได้อยากเป็นแม่ครัว ไม่เป็นครูไม่รู้หรอก อยากรู้ว่าประเทศที่เจริญแล้วเขาต้องให้ครูมาวุ่นวายทำอาหารกลางวันแบบนี้ไหม หน้าที่หลักครูคือ “สอน” ไม่ใช่ทำอาหาร ทำรายการเบิกจ่ายเอกสารเป็นปึก ๆ แล้วไปไล่ขอลายเซ็นทีละคน

มาดูกันว่าอาหารกลางวันเป็นภาระครูขนาดไหน ก่อนเที่ยงต้องมาล้าง หั่น ปรุง ยกหม้อร้อน ๆ หนักเป็น 10 กิโล ซึ่งแน่นอนว่าต้องทิ้งเด็กมา พักเที่ยงก็ไม่ได้พักนะต้องมาตักอาหาร ตักให้เยอะกินไม่หมด ตักให้น้อยโดนถ่ายรูปไปประจาน ถ้าให้เด็กตักเองก็ตักเอาแต่เนื้อคนข้างหลังไม่ได้กิน ถ้าไม่กินผักไม่ตักเอาผัก ครูต้องคอยตรวจถาดอาหารพักกลางวันก็ไม่ได้พัก นับวันได้ที่จะได้กินข้าวอย่างสงบสุข ถ้าให้เด็กเอาช้อนมาโรงเรียน ก็ว่าโรงเรียนไม่มีให้เหรอ งบประมาณไปไหนหมด ถ้าโรงเรียนหาให้ก็ทำหายไม่รู้จักเก็บ เอาเงินไหนมาซื้อละทีนี้ก็ผ้าป่า ถ้าขายให้เด็กก็หาว่าเห็นแก่เงินแค่ช้อนอันเดียวจะเล่นวินัยครู

อุปกรณ์ครัวทำเสร็จใครเก็บ ถ้าโรงเรียนใหญ่งบเยอะจ้างเหมาจบ โรงเรียนเล็กครูต้องมาทำ ล้าง ตาก รอแห้งแล้วมาเก็บ เสร็จงานคนที่บ้านใกล้ตลาดก็ไปซื้อกับข้าวในตอนเช้า ตัวผมเองตื่นเช้าไม่ไหวและไม่อยากเดินรีบเร่งก็ไปตลาดตอนเย็น เพราะต้องใช้เวลาในการเลือกวัตดุดิบ ราคาและเมนู เมื่อซื้อมาตู้เย็นที่บ้านก็สละมาให้อาหารกลางวัน น้ำเปล่าเย็น ๆ เบียร์ที่แช่ไว้ ขนออกมายัดอาหารเด็กเข้าไปก่อน เนื้อสัตว์ ผัก ลูกชิ้น กะทิ ระหว่างเดินในตลาดต้องหิ้วของหนัก 4 – 5 กิโล ถุงพลาสติกดึงนิ้วจนจะหลุดจากข้อ ร่างกายต้องการรถเข็น วันไหนแกงฟักทองต้องขนมาเติมไว้ที่รถก่อนเพราะฟักทองหนักค่อยไปซื้อใหม่ กว่าจะได้ของครบมืด ยิ่งหน้าหนาวยิ่งมืดเร็ว

บางวันไปช้าผักหมด เช่นจะทำก๋วยเตี๋ยวไม่มีถั่วงอกก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างอื่นไหม หรือใช้อะไรแทน ราคามันเป็นยังไง เดินวนอีกรอบ เลิกเรียนแทนที่จะถึงบ้านต้องไปเดินตลาดจนมืด ถึงบ้านขนของลง เช้ามาขนของเกือบ 10 กิโลขึ้นรถ ถึงโรงเรียนยกลง ทำกับข้าวถ้าไม่มีเสื้อกันเปื้อนก็เผลอเอาตัวไปอังกระทะใบใหญ่เสื้อเป็นรู สุดท้ายซื้อผ้ากันเปื้อนเอง ในงบ 21 บาทจะเอาวัตถุดิบเลิศหรู ถามหน่อยว่ารวมค่าอุปกรณ์เครื่องครัวไหม หม้อ กระทะ ทัพพี ตะหลิว โต๊ะเก้าอี้ ค่าเตาแก๊สที่ใช้ไปนาน ๆ ตัน ค่าแก๊สที่ขึ้นทุกวัน ค่าน้ำมันรถครู ค่าไฟตู้เย็น ค่าไฟหม้อหุงข้าวใบใหญ่ ค่าน้ำล้างผัก ล้างจานวันละ 4-5 กะละมังใหญ่ ๆ ค่าน้ำยาล้างจานเป็นลิตร เบรกมาบ่นเรื่องน้ำยาล้างจานหน่อย วางทิ้งไว้เด็กบีบเล่นกลัวไม่สะอาด ถ้าให้น้อยล้างไม่สะอาดมีคราบมันก็ต้องมาล้างซ้ำ

ค่าฝอยขัดหม้อ ค่าสก๊อตช์ไบรต์ ค่ากะละมัง 3 ใบใหญ่ ค่าสายยาง ค่าชั้นวางจานวางถาดหลุมตากแห้ง ค่าเครื่องปรุงน้ำตาล น้ำมันหอย ชูรส รสชั่ว พริกไทย ซอส กระเทียม ค่าน้ำเปล่าต้มน้ำซุปที่ต้องซื้อน้ำถังให้รถมาส่ง ใช้ทีเป็นสิบลิตรทั้งหุงข้าวทั้งต้ม เวลาตู้เย็นพัง เวลาหม้อหุงข้าวเสีย เตาหัวฟู่พ่นแก๊สไม่ออก เอาเงินจากไหนซ่อมเอารถใครไปซ่อม ใครต้องเป็นคนไป แล้วใครเป็นคนไปเอาเครื่องที่ซ่อมเสร็จกลับ เวลาทำกับข้าว มีด เขียง หินลับ กระทะ แท่นเสียบมีด แท่นวางเตา ปืนยิงแก๊ส ตะขอแขวน ผมนี่ซื้อบริจาคให้โรงเรียนหมด ดังนั้นถ้าอาหารกลางวันเป็นปัญหามาก เอาเงินไปให้ผู้ปกครองเลย แล้วท่าน ๆ คอยมาตรวจนะว่าผู้ปกครองคนไหนทุจริตไม่ทำกับข้าวให้ลูกบ้าง สบายใจกันทุกฝ่าย แก้ปัญหาตรงจุด

ไม่ได้เรียกร้องว่าไม่มีครูไม่ทุจริต แต่อยากบอกว่าเลิกเอางานอื่นมาให้ครูทำจะไม่ได้เป็นปัญหา ให้ครูได้สอนหนังสือ ครูไม่ได้อยากทำอาหารกลางวัน เพราะทำแล้วมันเข้าตำรา “…เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่ง ซ้ำยังต้องเอากระดูกมาเเขวนคอ…”

ภายหลังจากมีการโพสต์ข้อความดังกล่าวออกไป ปรากฏว่า มีคนเข้ามาแสดงความเห็นอกเห็นใจและโพสต์ให้กำลังใจคุณครูเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังอยากให้ฝ่ายงานเกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ครูต้องเป็นทุกอย่างแล้วมาให้คำชมเชยในภายหลัง เพราะคุณครูไม่ได้ต้องการคำชม แต่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อคุณภาพชีวิตของตัวครูและเด็กๆในโรงเรียนดีขึ้นกว่านี้.

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเฟซบุ๊ก “วันนั้นเมื่อฉันสอน”