วันอาทิตย์ที่ 30 ม.ค. ชาว กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร อย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.กันให้มากๆ ซึ่ง กกต.คาดการณ์อยากให้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเกินกว่า 70% การแข่งขันนี้เป็นการชิงดำระหว่างฝ่าย พลังประชารัฐ (พปชร.) คือ นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภริยานายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.เขตนี้ และ นายสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.เขตนี้ จากเพื่อไทย

ตัว “อ๊อบ สุรชาติ” นั้น คือทายาททางการเมืองของ นายเสนาะ เทียนทอง แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น เจ้าตัวทำพื้นที่มาตลอดทั้งในช่วงที่เป็นและไม่ได้เป็น ส.ส. ซึ่งสามารถเปิดเข้าไปดูในเพจได้ ก็เห็นนโยบายต่างๆ อย่างเช่นเรื่องความต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเยี่ยมคนในชุมชนซึ่งอยู่แฟลต อพาร์ตเมนต์จำนวนมาก และนโยบายสอดคล้องกับเพื่อไทย

“จุดอ่อน” ของนายสุรชาติ คือความที่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ความต้องการทำโครงการอะไรบางชิ้นที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ยังทำไม่ได้ เช่นเรื่องปรับราคารถไฟฟ้า แต่การเลือกตั้งนี้ก็มีเดิมพันสูงเพราะเป็นการวัดคะแนนนิยมในตัวรัฐบาลท่ามกลางกระแสพรรค พปชร. แตกจากการขับ 21 ส.ส.

ในส่วนของนางสรัลรัศมิ์ ไม่ใช่เรียกได้ว่า “ลงขัดตาทัพ” เพราะก่อนหน้านี้ พรรค พปชร. ก็มีแนวคิดจะส่งนางสรัลรัศมิ์ลงชิงเก้าอี้ ส.ส.กทม.เขตดอนเมือง แข่งกับแชมป์หลายสมัยอย่าง นายการุณ โหสกุล ส.ส.เพื่อไทย โดยระบุว่า ที่จะลงเขตนี้เพราะได้รับการร้องเรียนปัญหาจากประชาชน การชนกับ “สายแข็ง” ขนาดนั้นคือต้องทำการบ้านหนัก

 เมื่อนายสิระประสบปัญหาเรื่องคุณสมบัติทางการเมือง นางสรัลรัศมิ์จึงเป็น “ตัวที่มีความพร้อม” ที่สุด ติดตามนายสิระแล้วได้เรียนรู้งานการเมืองมาตลอด พร้อมจะสานต่อนโยบายสามีเรื่องการเปิดตู้ ปณ.รับเรื่องร้องทุกข์ 9999 หลักสี่ 10210 ซึ่งนายสิระตั้งใจรับเรื่องช่วยประชาชนทั่วไป โดยไม่ยึดว่าต้องช่วยเฉพาะพื้นที่ตัวเอง

สิ่งที่คนสนใจนางสรัลรัศมิ์คือ “พร้อมชนเพื่อประชาชนหรือไม่” เหมือนนายสิระที่เป็น “สายแทงก์” (แปลว่าพร้อมสู้กับเขาไปทั่ว) และเคยมีวีรกรรมมาแล้วคือการไปปะทะตำรวจ สภ.กะรน จ.ภูเก็ต เมื่อครั้งลงพื้นที่ตรวจการสร้างคอนโดฯหรูที่น่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และขอให้มีคณะอารักขา ส.ส.ลงพื้นที่เนื่องจากเป็นเขตอิทธิพล

ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดระบาดใหม่ๆ นอกจากแจกหน้ากากอนามัย ก็ปะทะกับ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เกี่ยวกับเรื่องการสร้างโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยโควิด ซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ร้องเรียนให้ ตรวจสอบว่าสร้างในพื้นที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะจะตั้งในซอยแจ้งวัฒนะ 14 เป็นเขตอยู่ใกล้กับชุมชนเมือง ตลาด

ที่ถูกหยิบยกมาพูดระหว่างการหาเสียง คือเมื่อก่อนเขตนี้มีจุดเป็นพื้นที่พักยาและมั่วสุม นายสิระก็ได้พยายามแก้ปัญหาเพื่อสร้างความปลอดภัย ลงพื้นที่บ่อยในจุดที่คนอยู่หนาแน่นอย่างแฟลต ย่านริมคลอง นางสรัลรัศมิ์ก็ติดตามช่วยเหลือประชาชนเนืองๆ แม้จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แต่เจ้าตัวประกาศเดินหน้าสานงานทั้งงานรัฐบาลและงานเพื่อพื้นที่

ภาพลักษณ์การหาเสียงดูนุ่มนวล เข้าถึงง่าย กระทั่งการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ที่ชุมชนสะพานไม้ 2 กลายเป็น “ลุงป้อมใจดี” ขนาดมีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่าง น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ มาชูสามนิ้วใส่แล้วขอเซลฟี่ ก็ยังให้ถ่ายแล้วบอกว่า “ก็เห็นเป็นลูกหลาน คนไทยด้วยกันทั้งนั้น ไม่เห็นมีอะไร”

จากนี้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ เขต 9 ก็ต้องตัดสินใจจากผลงาน ความชอบ ของตัวผู้สมัครตัวเต็งว่าจะเลือกใคร เพราะ ส.ส.มีผลต่อการทำงานในพื้นที่โดยตรง แม้ว่าจะเป็นการวัดการงัดข้อระหว่างสองพรรคใหญ่ ซึ่งจะถูกประเมินไปถึงการเมืองในระดับชาติก็ตาม แต่คนพื้นที่ก็คงเห็นผลงานที่ผ่านมาและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

หลักสำคัญคือ เลือกคนที่พร้อมทำงานจะดีที่สุด เพื่อพื้นที่เอง.