เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ความคิดเห็นต่อรถไฟฟ้า บีทีเอส กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในเขตกรุงเทพมหานครและผู้พักอาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,032 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 11-13 ก.พ. 65 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.9 ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทางประจำวันในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่เคยใช้บริการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.7 พอใจต่อเรื่องความปลอดภัย บริเวณของสถานีและการเดินรถไฟฟ้า รองลงมาคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.3 พอใจต่อการให้บริการ สถานีและการเดินรถไฟฟ้า และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 ระบุ ราคาค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นตามระยะทาง มีความสมเหตุสมผล นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.5 ระบุ การให้บริการเดินรถ ควรให้บริการยาว ไร้รอยต่อ ไม่ต้องขึ้นลงต่อขบวนรถ ตลอดสาย

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วง คือ  ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.8 ระบุ มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม เกิดขึ้นกับธุรกิจรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ และการแสวงหาผลประโยชน์ของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ในหน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 93.7 ระบุ ปัญหาขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี เรื่องสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว น่าเคลือบแคลงสงสัย ผลประโยชน์การเมืองระหว่าง กระทรวงคมนาคม กับ บริษัทเอกชน และร้อยละ 93.7 เช่นกัน ระบุ ปัญหาขัดแย้งการต่อสัปทานให้บริษัทเอกชน เกิดขึ้นจาก ความขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมืองในรถไฟฟ้าสายสีอื่น และร้อยละ 89.7 ระบุ กรุงเทพมหานคร ต้องชำระหนี้สินที่ค้างจ่ายให้บริษัทเอกชน

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.6 ต้องการให้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าฯ กทม. แสดงวิสัยทัศน์ แก้ปัญหาขัดแย้งธุรกิจ การเมือง รถไฟฟ้าสายสีเขียว เช่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายสุวัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง น.ส.รสนา โตสิตระกูล เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 6.4 ไม่ต้องการ

นายนพดล กล่าวว่า เสียงสะท้อนของประชาชนคนในกรุงเทพมหานคร ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความขัดกันของผลประโยชน์ธุรกิจและการเมืองในปมร้อนรถไฟฟ้าสายสีเขียว และชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐและการเมือง ที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเฉพาะกลุ่มพรรคพวกของตนเองมากกว่าผลประโยชน์และความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

นายนพดล กล่าวต่อว่า จากการศึกษาเพิ่มเติมพบปมร้อนความขัดแย้งและความล่าช้าในการต่อสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 4 ด้านด้วยกันคือ ประการแรก ความขัดแย้งระหว่างบริษัทเอกชนกับการประมูลธุรกิจการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มกระทบการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประการที่สอง การต่อรองในผลประโยชน์ทางธุรกิจ การเมือง และช่องว่างเชิงนโยบายในธุรกิจเดินรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ประการที่สาม ได้แก่ ข้อกฎหมาย อาจเกิดความผิดในหลายมิติ และประการที่สี่เป็นเรื่องอื่น ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร ที่ต้องชำระหนี้สินให้กับบริษัทเอกชน การลงทุน การขาดทุนในการลงทุนของหน่วยงานรัฐที่สุดท้ายต้องไปพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลาง และความเหลื่อมล้ำในธุรกิจเดินรถไฟฟ้าระหว่างบริษัทเอกชนที่ได้ประโยชน์ และผลประโยชน์ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้จากช่องว่างเชิงนโยบาย และการบำรุงรักษาระหว่างที่รอธุรกิจเดินรถ (Care of Work) ปีละเป็นพันล้านบาท เคยเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว เป็นต้น

“เหล่านี้คือกลุ่มก้อนต้นตอความขัดแย้งปมร้อนผลประโยชน์ธุรกิจการเมือง อำนาจรัฐ กฎหมาย และช่องว่างเชิงนโยบาย ที่ต้องหาคำตอบว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงไร ตัวละครที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน และนักการเมืองคนใด พรรคการเมืองใดบ้างเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันรักษาผลประโยชน์ชาติและให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม บนหลักธรรมาภิบาลของการบริหารบ้านเมืองที่ดีของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ดี” นายนพดล กล่าว.