เมื่อวันที่ 23 มี.ค. พล.ต.ต.มานะ กลีบสัตบุศย์ ผบก.ปทส. สั่งการให้ พ.ต.อ.อริยพล สินสอน รอง ผบก.ปทส., พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปทส. นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ กก.4 บก.ปทส. พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) บินสำรวจตรวจสอบพื้นที่บริเวณ ต.แสนไห และ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ หลังพบมีการลักลอบจุดไฟเผาป่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ

ทั้งนี้ จากการนำโดรนบินตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าว พบพื้นป่ามีลักษณะถูกไฟเผาไหม้เป็นบริเวณกว้าง โดยมีกลุ่มควันจำนวนมากปกคลุม จึงแบ่งกำลังอีกชุดเดินทางเข้าไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงบริเวณพิกัดดังกล่าว พบพื้นที่ป่าถูกตัดโค่น แปรสภาพเป็นลานกว้างใช้สำหรับทิ้งขยะ และมีการนำขยะไปทิ้งในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่จำนวน 1 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา จึงได้ตรวจยึดพื้นที่ จัดทำบันทึกรวบรวมเรื่องราวพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้เป็นพยานหลักฐาน

พ.ต.อ.ศานุวงษ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก กก.4 บก.ปทส. ได้จัดทำโครงการ “ตรวจ-ปราม-จับ” ในพื้นที่ห้ามเผา โดยมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาผนวกกับรถยนต์สายตรวจ อาทิ ติดตั้งระบบบอกพิกัด GPS ทุกคันที่วิ่งออกตรวจใน 17 จังหวัด เพื่อทราบว่ารถอยู่บริเวณใด แบบ Real Time และทราบว่ารถเคยวิ่งตรวจพื้นที่ใดบ้าง เพื่อการติดตามวิเคราะห์การตรวจป้องกันเหตุ และสั่งการให้รถซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุเข้าถึงที่เกิดเหตุไฟป่าอย่างรวดเร็ว และการรับข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ จากอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน แบบติดตั้งกล้องจับความร้อน หรือ thermal camera ที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถของรถสายตรวจในการตรวจสอบเหตุ ค้นหาสถานที่ และบุคคลในระยะไกล เพื่อตรวจหาพื้นที่เกิดไฟป่า หรือ ผู้ต้องสงสัยเผาไฟได้ โดยเฉพาะเมื่อกล้องจับความร้อนสามารถจับความร้อนของบุคคลที่อยู่บริเวณรอบที่เกิดการเผาไหม้ ซึ่งอาจจะมีส่วนรู้เห็น หรือในอีกทางหนึ่ง ยังสามารถเป็นพยานให้กับเจ้าหน้าที่ได้ หรือ ข้อมูลจุด Hotspot ซึ่งส่งข้อมูลผ่าน Website ขององค์การ Gitsda และ องค์การ Nasa เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลของสายตรวจสิ่งแวดล้อม และผลจากการจัดทำโครงการดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบพบจุดความร้อน (Hotspot) ซ้ำซ้อน เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ นำมาสู่การวางแผนเข้าตรวจสอบครั้งนี้

ด้าน พ.ต.อ.อริยพล กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีที่มีการนำเทคโนโลยีที่มีในยุคปัจจุบันมาปรับใช้แก้ไขปัญหาบ่อขยะ และการเกิดหมอกควันและไฟป่า ซึ่งเกิดจากการเผา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาบ่อขยะ ซึ่งถือเป็นการทำร้ายสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนทุกคนในวงกว้าง ขณะเดียวกัน การจัดการขยะถือเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย ขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ทวีความรุนแรงถึงขั้นวิกฤติ ทำให้เกิดปัญหามลพิษและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปทั่วประเทศ ซึ่งการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะการเผา จะก่อให้เกิดก๊าซพิษอีกหลายชนิด อีกทั้งยังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องร่วมกันจัดการให้เป็นระบบ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง และทุก ๆ คน ที่จะต้องร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

พ.ต.อ.อริยพล กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะเร่งดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อตามหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งผู้กระทำผิดเหล่านี้จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหา ความผิดเกี่ยวกับการแผ้วถาง บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ใช้พื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุให้เป็นจุดทิ้งขยะ เป็นการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2584 มาตรา 54 และ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9 ต่อไป.