การแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรนา 2019” หรือ “SARS-CoV-2” หรือ “โควิด-19 (COVID-19)” ในประเทศไทยนั้น มาถึงวันนี้แนวโน้มก็ยังคงน่าเป็นห่วง!! ประเทศไทยยังจำเป็นต้อง “เร่งเสริมศักยภาพการสู้โควิด” ในส่วนต่าง ๆ ซึ่งนอกจากกรณีการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคโควิดแล้ว กรณีการ “ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19” นี่ก็เช่นกัน เพราะถือเป็นอีกกรณีสำคัญยิ่งยวดที่มีผลต่อการ “ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด” และการ “หยุดยั้งปัญหาโควิดระบาด”

“เร่งเสริมศักยภาพการตรวจเชื้อโควิดนี่ก็ “จำเป็น”

โดยเฉพาะ “ตรวจเพื่อคุมการระบาดแบบคลัสเตอร์”

ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยในส่วนที่เป็นการตรวจยืนยันโดยสถานพยาบาลต่าง ๆ นั้น ยังทำได้ไม่รวดเร็วเพียงพอ เนื่องเพราะ กำลังเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันนั้นโดยเฉลี่ยในแต่ละวันจะมีประชาชนที่ต้องการตรวจคัดกรองเชื้อโควิดมากถึงประมาณ 150,000 คน ขณะที่ขีดความสามารถในการตรวจคัดกรองสามารถจะทำได้เพียงประมาณ 70,000-100,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ จากข้อจำกัดทางด้านบุคลากร จากความจำเป็นที่ประเทศ ไทยยังต้องเร่งเสริมศักยภาพในการตรวจเชื้อโควิด-19 เพื่อให้เท่าทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุดทาง โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยการสนับสนุนจากบริษัท ออลล์ เวลเนส จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้มีการเตรียมนำเข้าเครื่องตรวจ “Lumipulse G1200” ซึ่งเป็น “เครื่องตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 จากตัวอย่างน้ำลาย” ที่สามารถ ตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ได้ครั้งละจำนวนมาก มีความแม่นยำสูงตามเกณฑ์ของ อย. และมีความแม่นยำสูงถึง 98% สามารถทราบผลว่าเป็นลบหรือบวกได้รวดเร็วโดยใช้เวลาเพียงประมาณ 30-40 นาที สามารถตรวจพบเชื้อโควิดระยะฟักตัวได้เร็ว ทำให้ไม่ต้องตรวจซ้ำบ่อย ๆ

นี่เป็นการเสริมศักยภาพการตรวจโควิดที่น่าตามดู

การ “ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19” นั้น ทาง ดร.เอกวัฒน์ ผสมทรัพย์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ความเข้าใจว่า… ที่ผ่านมา วิธีการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ใช้กันทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย มี 2 วิธีหลัก คือ… RT-PCR ที่ผลการตรวจจะมีความแม่นยำสูง แต่ ต้องทำโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บตัวอย่าง ไปจนถึงการอ่านค่า ต้องทำในแล็บ ต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือหลายอย่าง อีกทั้งน้ำยาตรวจมีราคาสูง และใช้เวลารอผลนานราว 6-24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ “โควิด-19 ระบาดรุนแรง” อย่างในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ความต้องการตรวจหาเชื้อของประชาชนมีจำนวนมาก ประกอบกับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะภาครัฐ มีไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงทำให้ผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR นี้ล่าช้า ต้องใช้เวลา 2-3 วัน นี่จึงนำสู่วิธีการตรวจหาเชื้อโควิดแบบใช้ Antigen Test Kit ที่เป็นชุดตรวจเร็ว ซึ่งก็เป็นการ เก็บตัวอย่างทางจมูกส่วนหน้า หรือ “Nasal swab” เช่นเดียวกับการตรวจด้วยวิธี PCR 

แต่การทำ Nasal swab ด้วยตนเองก็มีข้อจำกัด เช่น อาจทำไม่ถูกวิธี หรือบางคนอาจกังวลว่าถ้ามีผลตรวจเป็นบวก คือติดเชื้อ แล้วจะมีปัญหาเรื่องการทำงาน ก็อาจหลีกเลี่ยงการเก็บตัวอย่างของตนเองอย่างถูกวิธี ทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อน

“ข้อจำกัด-ผลคลาดเคลื่อน!!” เรื่องนี้ก็ “น่าคิด??”

สำหรับ “Lumipulse G1200” ที่จะเสริมศักยภาพการตรวจโควิดที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยการสนับสนุนจาก ออลล์ เวลเนส ในกลุ่ม ซีพี ออลล์ นั้น จากข้อมูลจำเพาะ ข้อดีการใช้ตัวอย่างน้ำลายเมื่อเทียบกับการใช้สารคัดหลั่งจากโพรงจมูกจากการ swab คือ สะดวก ลดความเสี่ยงบาดเจ็บโพรงจมูก ไม่เสียเวลารอคิว เพียงบ้วนน้ำลายใส่ภาชนะที่กำหนดตามวิธีที่แนะนำก็ส่งตรวจได้ ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ-ติดเชื้อโควิด ระหว่างตรวจ บุคลากรการแพทย์ก็ลดความเสี่ยงเพราะไม่ต้องใกล้ชิดผู้รับการตรวจ โดยเครื่องนี้ใน 1 ชั่วโมงสามารถตรวจได้ถึงประมาณ 100 ตัวอย่าง

ทั้งนี้ ดร.เอกวัฒน์ เสริมข้อมูลว่า… เครื่องตรวจคัดกรองด้วยตัวอย่างน้ำลาย เหมาะกับการตรวจเชื้อโควิดกลุ่มคนจำนวนมาก ๆ อย่างสถานการณ์ในไทยในปัจจุบัน เช่น ตรวจตามโรงงาน โดยให้ผู้รับการตรวจเตรียมตัวอย่างน้ำลายไว้ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บรวบรวมนำมาตรวจสอบด้วยเครื่องรูปแบบนี้ โดยอาจจะเสียเวลาก็เฉพาะการขนส่ง

“เรื่องค่าใช้จ่ายการตรวจ ต่อ 1 ตัวอย่างอยู่ที่ 500-600 บาท แม้จะสูงกว่าแบบ Antigen Test Kit ประมาณ 1.5-1.8 เท่า แต่ก็ไม่ต้องตรวจบ่อย และแม่นยำสูง เครื่องตรวจนี้ตรวจหาเชื้อได้กว้าง อย่าง Antigen Test Kit จะพบเชื้อก็เมื่อมีการฟักตัวแล้ว 3-5 วัน ทำให้อาจต้องตรวจซ้ำบ่อย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และขณะยังไม่พบเชื้อแต่มีเชื้อในร่างกายก็สามารถไปแพร่ให้ผู้อื่นได้ ส่วนเครื่องดังกล่าวนี้จะ ตรวจพบเชื้อโควิดได้เมื่อมีการฟักตัวเพียง 1-2 วัน จึงไม่ต้องตรวจบ่อย อาจตรวจเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง” …ทาง ดร.เอกวัฒน์ ระบุ พร้อมทั้งเผยด้วยว่า… การนำเข้า “เครื่องตรวจเชื้อโควิดจากตัวอย่างน้ำลาย” ดังกล่าวนี้กำลังอยู่ระหว่างขออนุญาต อย. คาดว่าจะนำเข้ามาใช้งานได้เร็ว ๆ นี้

ก็น่าตามดู…การ “เสริมศักยภาพการตรวจเชื้อโควิด”

“ตรวจคนจำนวนมาก ๆ ได้เร็ว-ไม่เสี่ยง”…ก็น่าจะดี

น่าจะเป็นอีกตัวช่วย…ในการ “สกัดคลัสเตอร์โควิด”