ชช.ฟีเวอร์!! ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ทรงพลังทั่วประเทศ ทั้งสื่อหลักและโซเชียลรายงานความเคลื่อนไหวชนิดนาทีต่อนาที ร้อนแรงตามสโลแกน ทำงาน ทำงาน ทำงาน ภาพชัดล่าสุดช่วงดึก 4 ทุ่ม วันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. เห็นฝนตกรีบบุกศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม. เรตติ้งยิ่งถล่มทลาย

จับกระแสนโยบายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผู้ว่าฯ ชัชชาติ บอกว่าขอเวลา 1 เดือนเพื่อสรุปทางออก จากเงื่อนปม ที่กระทรวงมหาดไทย ทำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายสัมปทานให้กลุ่มบีทีเอสออกไปอีก 30 ปี (2602 จากที่จะครบสัญญาปี 2572 แลกกับภาระหนี้สินกว่าแสนล้านบาท โดยจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด (ทั้งสายหลักและส่วนต่อขยาย) ไม่เกิน 65 บาท ตามที่อดีตผู้ว่าฯ กทม. ชงเรื่องไว้ โดยมีกระทรวงคมนาคมและพรรคภูมิใจไทย เป็นคู่ขัดแย้ง ขวาง ครม.อนุมัติขยายสัมปทานจนวาระถูกตีตกหลายครั้ง กระทั่งมาถึงมือผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต้องมาสางปมใหญ่

ขณะที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เองก็เคยประกาศคัดค้านการต่ออายุสัมปทาน เพื่อให้รายอื่นเข้าร่วมแข่งขัน พร้อมข้อกังวลว่า กทม.ไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวมทั้งเห็นด้วยหากจะโอนคืนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายกลับคืนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจ้าของเดิม ซึ่งกทม. ยังมีภาระหนี้ค่างานโยธาและภาระดอกเบี้ยโครงการส่วนต่อขยายกับ รฟม.กว่า 6 หมื่นล้านบาท

กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าหลากสี มีผู้ประกอบการรวมทั้งผู้ควบคุมดูแลหลายราย สายสีเขียว กทม. (โดยบีทีเอสเป็นผู้รับสัมปทาน) รฟม. ดูแลรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสีม่วง ที่มี BEM เดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้บริษัทลูก รฟฟท.-บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งทั้ง รฟม.และ รฟท. อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม

ตัวเลขผู้โดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ขอยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายใหม่สายสีแดงของ รฟท. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำสถิติผู้โดยสารสูงสุด (นิวไฮ) 14,120 คน

ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลากว่า 6 เดือน จากช่วงแรกในการเปิดบริการเมื่อเดือน พ.ย.64 ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณวันละ 2,000-3,000 คน เพิ่มขึ้นเป็นประมาณวันละ 8,000-9,000 คน และมากกว่าวันละ 10,000 คน เมื่อเดือน พ.ค. คาดว่าผู้โดยสารจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 3 หมื่นคนภายในปี 65 และเติบโตขึ้นปีละไม่น้อยกว่า 10% แต่ยังน้อยกว่าเป้าหมายตามผลการศึกษาอยู่ที่ 8 หมื่นคนต่อวัน

3 สถานีแรกที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ 1.สถานีกลางบางซื่อ, 2.สถานีดอนเมือง และ 3.สถานีรังสิต เดิมสถานีดอนเมือง อยู่ในลำดับ 3 แต่ปัจจุบันประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศผ่านทางอากาศมากขึ้น ส่งผลให้สถานีดอนเมืองมีผู้โดยสารมากขึ้นตามไปด้วย เพราะการเดินทางสะดวกสบาย ลงจากรถไฟฟ้าสายสีแดง เดินเชื่อมทางเดินลอยฟ้า (สกายวอล์ก) เข้าท่าอากาศยานดอนเมืองได้ทันที

หากจำกันได้ ช่วงเปิดบริการใหม่ๆ ประชาชนถล่มยับการรถไฟฯ ว่าจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีดอนเมือง และท่าอากาศยานดอนเมือง ไม่มีทางลาด มีแต่ขั้นบันได ทำให้ประชาชนที่ใช้กระเป๋าเดินทางไม่ได้รับความสะดวก ต้องยกกระเป๋าขึ้นลงบันได จนถึงขณะนี้ รฟท.ก็ยังไม่ได้ปรับปรุงทางลาดอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร

ข้ามโจทย์ยาก “เรื่องผลประโยชน์และกลเกมธุรกิจการเมือง” มาฟังเสียงสะท้อนประชาชนและผู้โดยสาร แม้ภาครัฐจะทำให้รถไฟฟ้าเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกัน ซึ่งต้องใช้เวลา และเมื่อรถไฟฟ้ามาแล้วแต่ไม่ถึงหน้าบ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถไฟฟ้าทุกสายตัวเลขผู้โดยสารต่ำกว่าเป้าหมาย ประชาชนต้องการให้ภาครัฐจัดทำระบบฟีดเดอร์ขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสีเพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ทั้งเส้นทางรถเมล์ รถชัตเติ้ลบัส หรือรถ 2 แถว

บริเวณสถานีรถไฟฟ้า ประชาชนต้องการให้จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ร้านค้า วิน จยย. แท็กซี่ อยากให้มีที่จอดรถ ทางเชื่อมต่อผู้พิการและผู้โดยสาร ต้องการทางลาดลากกระเป๋าสัมภาระ ต้องการที่นั่งพักคอยรถไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อาทิ ป้ายประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจน ร้านค้าร้ายสะดวกซื้อ ให้ชอปปิงระหว่างรอรถไฟฟ้า รวมทั้งเรื่องอัตราค่าโดยสาร เข้าใจว่าจะให้ถูกเหมือนรถเมล์ ขสมก.คงไม่ได้ เพราะลงทุนสูง ยิ่งหากเอกชนมาร่วมทุนก็ต้องหวังผลกำไร

แต่ขอราคาที่ประหยัด มีตั๋วเดือนหรือโปรโมชั่นต่างๆ จูงใจและช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ขอให้ยกเว้นค่าโดยสารแรกเข้าของแต่ละระบบของรถไฟฟ้าแต่ละสี เพื่อให้ราคาถูกลง ประชาชนจะได้เอื้อมถึงรถไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหารถติด ส่งเสริมให้ใช้ขนส่งสาธารณะ ช่วยประหยัดพลังงาน

กระแสผู้ว่าฯ ชัชชาติฟีเวอร์ ทำงานๆๆ จะทรงอานุภาพถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดียิ่งขึ้นได้หรือไม่??

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง