เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการฯ กทม. 1 (เสาชิงช้า) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีคณะผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบหมายสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักพัฒนาสังคม สำนักอนามัย เร่งสำรวจผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐ ที่ตกสำรวจและไม่สามารถลงทะเบียนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ต่างๆได้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการอาศัยอยู่ในอาคาร ตึกแถว หรือที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบชุมชนหรือยังไม่ได้จัดตั้งเป็นชุมชน เพื่อจะได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวให้ครบถ้วนและทั่วถึง สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ตามเป้าหมายของกทม.และรัฐบาลโดยเร็ว

พร้อมกันนี้ ให้มีการสำรวจจำนวนบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า หรือมีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโควิด-19 อาทิ พนักงานเก็บขนมูลฝอย พนักงานกวาด พนักงานประจำรถสุขาเคลื่อนที่ พนักงานเก็บขนสิ่งปฏิกูล เจ้าหน้าที่ขุดลอกคูคลอง รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับใช้ป้องกันเชื้อโควิด-19 ในระหว่างการปฏิบัติงาน

เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย หน้ากากสวมป้องกันใบหน้า (Face Shield) เจลแอลกอฮอล์ ชุดป้องกันการติดเชื้อ ชุดกันเปื้อนทำความสะอาดแบบค้างคาว แว่นตา และรองเท้าบู๊ต เพื่อจะได้เร่งจัดสรรอุปกรณ์ต่างๆ สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอและทั่วถึง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรกรุงเทพมหานครที่ต้องปฏิบัติงานด่านหน้าทุกคน

นอกจากนี้ ในที่ประชุม ผู้ว่าฯ กทม. ได้กำชับและสั่งการให้สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ร่วมกับสำนักงานเขต จัดทำแผนฉุกเฉินป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมขังในพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานสภาพอากาศในช่วงนี้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย อีกทั้งมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้

จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติม ถึงแม้ปัจจุบันสำนักงานเขตและ สนน. จะมีแผนการดำเนินงานและได้ดำเนินการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดปีอยู่แล้ว แต่ให้จัดทำแผนฉุกเฉินป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเพิ่มเติม โดยพิจารณาว่าในพื้นที่ที่รับผิดชอบยังคงมีจุดเสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่ จากนั้นให้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดที่ชัดเจนเพื่อรองรับปัญหากรณีเกิดน้ำท่วมขังฉับพลัน ให้สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน