แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน แต่ก็พบว่าภาคธุรกิจไทยยังคงเดินหน้า “ซื้อขายกิจการ” กันอย่างคึกคัก เพราะท่ามกลางวิกฤติย่อมเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินสูง ที่สามารถนำสภาพคล่องมาใช้ควบรวมกิจการขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจของตนเอง ประกอบกับบริษัทขนาดเล็กเองที่พยายามมองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเพื่อช่วยเสริมการเติบโตผ่านธุรกิจใหม่ ๆ รวมไปถึง “เพื่ออยู่รอดท่ามกลางวิกฤติโควิด-19” อีกด้วย 

นอกเหนือจากแผนการซื้อขายกิจการเพื่อสร้างความอยู่รอดในปีที่ผ่านมาแล้ว ก็ยังเห็นการ ’ขยับขยายตัว“ มีการ ’แตกไลน์ธุกิจใหม่ ๆ“ เพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจเดิมให้หลายกลุ่มธุรกิจมากยิ่งขึ้น หลังรับบทเรียนจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้รู้ซึ้งแล้วว่าการปักหลักอยู่เพียงธุรกิจเดียวก็คงไม่รอด

ทั้งนี้ ดีลการควบรวมและซื้อขายกิจการในปี 64 ที่ผ่านมา พบว่ากระจัดกระจายอยู่ในหลายธุรกิจมาก ทั้งธุรกิจอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ต่างก็เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลท. ทั้งสิ้น

รวมพลังทรูดีแทค

เรียกว่าเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” มากที่สุดในปี64 คงหนีไม่พ้นดีลยักษ์ในวงการโทรคมนาคมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรู” ในเครือซีพี กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ที่ประกาศควบรวมกิจการ แล้วจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาในชื่อ “ซิทริน โกลบอล” เพื่อทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) หุ้นทรูและดีแทค โดยผู้ถือหุ้นต้องนำทั้ง 2 หุ้นดังกล่าวมาแลกกับหุ้นของบริษัทใหม่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในจิ๊กซอว์ธุรกิจที่ทางยักษ์ใหญ่ซีพี ได้พยายามปะติดปะต่อให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ต่อยอดธุรกิจค้าปลีก

ฝั่งค้าปลีก บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ “ซีพีเอ็น” ผู้ให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัล ประกาศเข้าซื้อขายหุ้นของ บมจ. สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ หรือ “เอสเอฟ” ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ “เมกาบางนา”  ซึ่งได้ไปทั้งหมดกว่า 2 พันล้านหุ้น ในสัดส่วน 96.24% เพื่อขยายพอร์ตต่อยอดธุรกิจในอนาคต ซึ่งการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ซีพีเอ็นได้ทั้งศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ อาทิ เมกา บางนา, เจ อเวนิว, ลา วิลล่า, ดิ อเวนิว, เอสพลานาด, เอกมัย พาวเวอร์ เซ็นเตอร์ รวมถึงพื้นที่ให้เช่า และที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ ๆ หลายแห่ง

รายใหญ่ไล่ช้อนรายเล็ก

ด้านในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง สนาดีเวลลอปเม้นท์” ปี 64 ประกาศใช้เงินลงทุน 1,254 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นและกิจการใน 4 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายเล็ก เพื่อสร้างผลตอบแทนและขยายการเติบโตของบริษัทในระยะยาว เนื่องจากมองว่าโครงการหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องไปต่อไม่ได้ จากผลกระทบ
โควิด-19 แต่หลายโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้างและอยู่บนทำเลที่มีศักยภาพ จึงเห็นโอกาสเข้าไปซื้อกิจการ ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลาและต้นทุน สามารถรับรู้รายได้เร็ว เพราะบางโครงการมาพร้อมกับลูกค้าเก่าที่เตรียมพร้อมโอนแล้ว แต่ที่ผ่านมาติดขัดเรื่องเงินทุนหมุนเวียน

ตั้งกองทุนช้อปโรงแรม

เช่นเดียวกัน “แอสเสท เวิรด์” ธุรกิจโรงแรม อสังหาฯของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ก่อนหน้านี้ประกาศจัดตั้งกองทุนวงเงินหลักหมื่นล้านบาทเพื่อช้อนซื้อโรงแรมในประเทศไทย หลังจากมีโรงแรมกว่า 100 แห่ง ตั้งแต่ 3 ดาว ถึง 5 ดาว ที่ขาดสภาพคล่อง
เข้ามาเสนอขาย โดยล่าสุดได้ทยอยใช้เงินลงทุนประมาณ 435 ล้านบาท เข้าซื้อโรงแรมดุสิต ดีทู ที่จังหวัดเชียงใหม่ จากบริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด สานต่อธุรกิจโรงแรมแบรนด์ดัง กระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคเหนือ

ลงทุนรับขนส่งดิลิเวอรี่บูม

ด้าน “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” หรือ เอสซีจีพี ตั้งงบลงทุนปี64 ไว้ที่ 20,000 ล้านบาท วางแผนเข้าซื้อหุ้นและควบรวมกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในต่างประเทศในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ เพื่อเร่งขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น สำหรับรองรับการเติบโตของธุรกิจส่งอาหารดิลิเวอรี่ รวมไปถึงการส่งสินค้าออนไลน์ในประเทศที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนมาก หลังจากเกิดวิกฤติโควิดที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดกันมาก

ลุยร่วมทุนและซื้อกิจการ

ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่าง “กลุ่มปตท.” ในช่วงปีที่ผ่านมาได้ประกาศการร่วมทุนและซื้อกิจการมีอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 7 เดือนแรกปี 64 กลุ่ม ปตท.ได้ประกาศการลงทุนทั้งการร่วมทุนและเข้าซื้อกิจการ ตั้งบริษัทร่วมทุนและตั้งบริษัทย่อยทั้งในและต่างประเทศ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งการลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงซื้อโรงงานผลิตยาและธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี

ทั้งนี้พีทีทีจีซี มีมูลค่าการลงทุนตั้งแต่ต้นปีสูงสุด จำนวน 1.48 แสนล้านบาท จากการเข้าซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH (Allnex) ซึ่งเป็นผู้ผลิต Coating Resins-Crosslinkers จากประเทศเยอรมนี รองลงมาคือ ปตท.สผ. ที่มีมูลค่าการลงทุน จำนวน 7.35 หมื่นล้านบาท จากการเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 20% ในโครงการ Oman Block 61 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ในประเทศโอมาน เป็นต้น

ควบรวมข้ามสายพันธุ์

ในอดีตอาจเห็นการควบรวมกิจการภายในธุรกิจเดียวกัน หรืออุตสาหกรรมเดียวกัน แต่ปีนี้เริ่มเห็นบางบริษัทขยับขยายต่อยอดข้ามธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากบางอุตสาหกรรมเริ่มตัน หรือช่องว่างการเติบโตมีจำกัดมากขึ้น ซึ่งจริง ๆ สัญญาณตรงนี้ไม่ใช่แค่ดีลควบรวมกิจการแต่ผู้ถือหุ้นใหญ่บางบริษัท หรือเจ้าของกิจการบางแห่ง เริ่มเห็นการสวอปหุ้นหรือทำบิ๊กลอตข้ามสายพันธุ์กันมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ถือหุ้นคอมเมิร์ซรีเทลแล้วเข้าไปซื้อหุ้นโลจิสติกส์ เป็นต้น

ดีลในลักษณะเช่นนี้ จะต้องเป็นธุรกิจที่มีเงินทุน มีเงินเย็นเหลือค่อนข้างมาก เช่น กัลฟ์ เข้าไปซื้อหุ้น อินทัช ด้วยเงิน 4.86 หมื่นล้านบาท ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 42.25% เพื่อทำธุรกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นการลงทุนที่สร้างการเติบโตมากกว่าเดิม

แบงก์ใหญ่ลุยคริปโทฯ

นอกเหนือจากการไล่ควบรวมกิจการแล้ว หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะนำพาให้ธุรกิจอยู่รอด นั่นก็คือ การจับมือร่วมกับพันธมิตร หรือการเข้าไปถือหุ้นบางส่วนในกลุ่มธุรกิจใหม่ ซึ่ง “คริปโทเคอเรนซี่” หรือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” นับเป็นธุรกิจที่เนื้อหอมแบบสุด ๆ หลากหลายธุรกิจแห่แหนเข้าไปร่วมลงทุนกันเป็นจำนวนมาก

ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มธนาคาร ที่ล่าสุด ’กลุ่มเอสซีบี เอกซ์“ ประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้นำด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย ผ่านการเข้าซื้อหุ้น 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท โดยมี ’บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด“ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รับหน้าที่ผลักดันและทำงานร่วมกับ ’บิทคับ“ ในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้างธุรกิจร่วมกัน รวมถึงสร้างระบบนิเวศทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล

เช่นเดียวกัน “บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล” ในกลุ่มธนาคารกสิกรไทย ล่าสุด ได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย เพื่อเข้ามาช่วยให้
คำปรึกษาในเรื่องนี้ได้กับลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาด และการวางรูปแบบธุรกิจให้ลูกค้า

จากก่อนหน้านี้ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี ได้จัดตั้ง “คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท” ขึ้น โดยมีธนาคารกสิกรไทยถือหุ้น 100% ผ่านบริษัท กสิกร เอกซ์ จำกัดที่เป็นบริษัทในเครือ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีเพื่อดำเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาในกระบวนการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อนักลงทุนในตลาดแรก รวมทั้งการคัดกรองผู้จะเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล การประเมินแผนธุรกิจ ประเมินการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน การช่วยพิจารณาแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และร่างหนังสือชี้ชวนการลงทุนก่อนยื่นต่อ ก.ล.ต.

หนีตายแตกไลน์ธุรกิจใหม่

ผลกระทบโควิดที่ผ่านมาบางรายอาจรับผลกระทบไม่มากนัก มีสายป่านได้ยาว ขณะที่บางรายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากรายได้หลักที่หายไป ดังนั้นการอยู่รอดให้ได้จึงต้องหาหนทางทำธุรกิจใหม่ ๆ อย่าง “การแตกไลน์ธุรกิจ”  เห็นได้จาก “ราช กรุ๊ป” ในกลุ่มโรงไฟฟ้า ที่ประกาศทำสัญญาซื้อหุ้น พริ้นซิเพิล แคปิตอล เจ้าของธุรกิจโรงพยาบาลในเครือปริ๊นซ์ โดยควักเงินลงทุนกว่า1,557 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 10% เนื่องจากบริษัทมองเห็นธุรกิจบริการสุขภาพที่มีศักยภาพ และสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ทั้งจากสภาวะสังคมผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น และพฤติกรรมของคนไทยที่ในเวลานี้หันมาสนใจด้านสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดถือเป็นตัวเร่งการเติบโต

“ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น” หรือ ทีดับเบิ้ลยูซี ผู้จำหน่ายมือถือและอุปกรณ์มือถือ ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลัก ขยายไปสู่ธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เป็นผู้ผลิตอาหารเกี่ยวกับกัญชา-กัญชง และผู้ผลิตถุงมือยางรับกระแสโควิด 

ขณะที่ “ท่าอากาศยานไทย” หรือ เอโอที ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ทำให้รายได้หายไปทันที หลังการปิดประเทศ และสายการบินลดจำนวนเที่ยวบินตามความต้องการที่ลดลง ดังนั้น แนวคิดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินทางเดียวคงไม่สามารถอยู่รอดได้อีกต่อไป จึงแตกไลน์ธุรกิจสู่ธุรกิจนอกการบินมากขึ้น แม้ช่วงแรกอาจจะเป็นรายได้เสริม แต่ในอนาคตตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจการบินนอกการบิน จะมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50%

ด้าน “ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แตกไลน์ถึง 3 ธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจศูนย์โลจิสติกส์ ภายใต้การร่วมทุนกับเจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ส่วน “อาร์เอส” ธุรกิจคอมเมิร์ซและมีเดีย หันรุกธุรกิจด้านการเงิน โดยประกาศซื้อหุ้น “เชฎฐ์ เอเชีย” ซึ่งประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์-สินเชื่อรายย่อย ด้วยเงินจำนวน 920 ล้านบาท พร้อมกับการขายอาหารสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงการเปิดตัวเหรียญป๊อปคอยน์ โทเคน เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนและทำธุรกรรมในธุรกิจทั้งคอมเมิร์ซ คอนเทนต์ และบันเทิง อีกด้วย

รอของถูกเข้าซื้อกิจการ

การที่ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่เน้นกลยุทธ์การควบรวมกิจการมากกว่าสร้างเอง เพราะต้องการเติบโตเร็ว เห็นได้ชัดจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เข้าไปซื้อสตาร์ทอัพฟินเทคและบริการส่งอาหาร ขณะเดียวกันบางธุรกิจเองมีความจำเป็นต้องทำ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า เพราะคาร์บอนเครดิตถูกบังคับใช้มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่มีฐานการผลิตฟอสซิลซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ จะต้องขยายลงทุนกิจการพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในช่วงขาลงจากผลกระทบโควิด ทำให้ราคาสินทรัพย์ถูกอัตราดอกเบี้ยต่ำจึงถือเป็นช่วงจังหวะจูงใจให้ลงทุน โดยเฉพาะการควบรวมกิจการ และจับมือพันธมิตรร่วมทุนเพิ่มมากขึ้น

เทรนด์ฮุบกิจการยังมีต่อ

สำหรับทิศทางปี 65 นั้น นักวิเคราะห์ บล.เอเชียพลัส คาดว่า เทรนด์การเข้าซื้อกิจการยังไม่ลดลง เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ยังคงมีเงินในระบบจำนวนมาก และแม้เศรษฐกิจจะชะลอความรุนแรงไปบ้างแล้ว แต่ผลกระทบจากโควิดในช่วงที่ผ่านมาทำให้บริษัทรายเล็กที่สายป่านไม่ยาว ยังคงต้องการเงินทุนจากพันธมิตรมาช่วยประคับประคองธุรกิจ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งรูปแบบการจับมือเป็นหุ้นส่วน และการเปลี่ยนมือธุรกิจ ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มเทคโนโลยีก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องขยับขยายตัว

จากภาพการเข้าซื้อกิจการของบริษัทรายใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าไม่เพียงสินทรัพย์ที่ราคาถูกในช่วงเศรษฐกิจขาลง และดอกเบี้ยราคาถูก ที่เป็นแรงจูงใจให้มีการเข้าซื้อเพียงอย่างเดียวแต่เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค ประกอบเข้ากับการเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้า ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดความจำเป็นในการซื้อหรือการหาพันธมิตรมาช่วยประกอบร่างธุรกิจด้วยเช่นกัน ส่วนในปี 65 นี้ ธุรกิจกลุ่มไหนจะเป็นโอกาสทองให้ผู้ประกอบการแห่กันเข้าไปช้อปนั้นต้องติดตาม!!.