กรณี โรคลัมปิสกิน โรคอุบัติใหม่ แพร่ระบาดโค-กระบือ ในประเทศไทย สภาพจะเป็นตุ่มขนาดใหญ่ ขึ้นที่ผิวหนัง ลุกลามไปทั่วตัวเมื่ออาการหนักตุ่มจะแตกกลายเป็นแผลเน่า บางตัวทนไม่ไหวล้มตายอย่างน่าเวทนากระทั่งล่าสุด พบระบาดลุกลามสู่สัตว์ป่าคุ้มครอง ทั้ง กระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และวัวแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี จนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สั่งให้มีสำรวจปัจจัยเสี่ยงในทุกพื้นที่ เน้นเฝ้าระวังใน 5 พื้นที่เสี่ยง ประกอบด้วย อุทยานฯกุยบุรี อุทยานฯแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานฯเขาใหญ่ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า รวมถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคำรณ เพ็ชรประยูร ช่างภาพอิสระ และนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ถ่ายภาพกระทิง ที่ออกหากินบริเวณหอดูสัตว์หนองผักชี ในอุทยานฯเขาใหญ่ไว้ได้ โดยจากภาพถ่ายปรากฏชัดว่า ตามลำตัวของกระทิง ปรากฏเป็นตุ่มน้อยใหญ่ ประมาณ 2-5 ซม. คล้ายกับ โรคลัมปิสกิน โรคอุบัติใหม่ ที่แพร่ระบาดในสัตว์เท้ากีบ บางตัวตุ่มที่เกิดขึ้น เริ่มเปลี่ยนสภาพเป็นตุ่มน้ำใส ใกล้จะแตกกลายเป็นแผลด้วย ทำให้เกิดความเป็นห่วงว่า กระทิงบนผืนป่ามรดกโลก อาจได้รับเชื้อลัมปิสกิน ที่มาจากสัตว์พาหะ จำพวก ยุง เห็บ และแมลงวันดูดเลือด ที่ไปรับเชื้อว่าจาก โค-กระบือ จากปศุสัตว์รายรอบเขาใหญ่ พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจ เฝ้าระวังโรค ก่อนจะเกิดลุกลามไปในสัตว์กีบทั่วผืนป่า

ด้าน นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่ เปิดเผยกับเดลินิวส์ ว่า ได้เห็นภาพถ่ายดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นได้ส่งให้ทีมวิจัยและอนุรักษ์สัตว์ป่า ตรวจสอบ จากการสันนิษฐานเบื้องต้นยังไม่ได้เก็บตัวอย่างเลือดมาตรวจสอบ คาดว่า กระทิงในรูปยังไม่น่าได้รับเชื้อลัมปิสกิน โรคอุบัติใหม่ เนื่องจากระยะเวลาภาพถ่ายดังกล่าวตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีลามไปยังกระทิงตัวอื่นเพิ่มเติม ทั้งในบริเวณทุ่งหนองผักชี หรือไปยังป่าฝั่งทางขึ้นเขาเขียว แต่อย่างไรก็ตามเราก็มีเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ 24 หน่วยพิทักษ์ ที่ขึ้นกับ อุทยานฯเขาใหญ่ ออกสำรวจ เฝ้าระวัง ติดตามพฤติกรรมฝูงกระทิงที่สงสัยว่าเข้าข่าย ตรวจตราเข้มข้นและทำสถิติป้องกันเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ นำ โค-กระบือ มาใกล้เขตพื้นที่อุทยานฯ

นอกจากนี้ ยังได้ออกประกาศอุทยานฯเขาใหญ่ เรื่องการเฝ้าระวังโรค ป้องกัน และควบคุมโรคลัมปิสกิน ในสัตว์ป่า ตามที่จังหวัดนครราชสีมากำหนดให้ทุกท้องที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปิสกิน ชนิดสัตว์ควบคุม โค-กระบือ อีกทั้งมีรายงานว่าสัตว์ป่าที่อาศัยในพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ มีความเป็นไปได้ในการรับและส่งต่อเชื้อ ทั้ง กระทิง เลียงผา กวางป่า และสัตว์กลุ่มกวาง โดยเฉพาะกระทิงที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงวัวบ้าน จึงมีคำสั่งเน้นย้ำห้ามนำสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ทุกชนิดเข้ามาในอุทยานฯ หรือโดยรอบบริเวณแนวเขตฯ อาศัยอำนาจตาม มาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อป้องกันโรคลัมปิสกินลามสัตว์ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สำหรับสัตว์ป่าในบ้านเราที่ติดเชื้อและแสดงอาการของโรคลัมปี สกินได้ จะเป็นสัตว์ในกลุ่มพวก กระทิง วัวแดง ควายป่า หากติดเชื้อและเป็นโรค จะแสดงอาการเพียงเล็กน้อย ไม่แสดงอาการรุนแรง และเปอร์เซ็นต์การตายน้อยกว่า โค-กระบือ เนื่องจากสัตว์ป่ามีความแข็งแรงและทนต่อโรคต่างๆได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามต้องมีเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเต็มที่ โดยกรมปศุสัตว์ร่วมกับกรมอุทยานฯ และ ผวจ.ทุกจังหวัด ยกระดับมาตรการการ โดยจะเข้าดำเนินการในพื้นที่รอบเขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และวนอุทยานทุกแห่งที่มีสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยง โดยจะเร่งรัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ และดำเนินการควบคุมและกำจัดแมลงพาหะของโรค

ขณะที่ นสพ.ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อวัคซีนโค ของเกษตรกรในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากขอบชายป่าของอุทยานฯกุยบุรี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ ที่กระทิงลงมาหากิน ประกอบด้วย หมู่ 1 ต.กุยบุรี หมู่ 6,7,9 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี หมู่ 3,4,5,6 ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี หมู่ 3 ต.ศาลาลัย หมู่ 7 ต.ไร่ใหม่ หมู่ 7 ต.ไร่เก่า อ.สามร้อยยอด หมู่ 1,4,11 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน และ พื้นที่ หมู่5,12 ต.อ่าวน้อย และหมู่ 12 ต.บ่อนอก อ.เมือง รวมทั้งหมดประมาณ 10,000 ตัว และวันนี้ได้ฉีดวัคซีนให้โคไปแล้วประมาณ 4,000 ตัว คาดว่าภายในอาทิตย์หน้าจะดำเนินการได้ครบทั้งหมด.