ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มีสาร THC เกิน 0.2% ซึ่งบรรยากาศเกี่ยวกับ “กัญชา” ในประเทศไทยก็คงจะคึกคักมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่หลัง ๆ มานี้มีหน่วยงานต่าง ๆ จัดเวทีสัมมนา-เสวนา “การใช้ประโยชน์จากกัญชา” กันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเด็น “ทิศทางกัญชาไทย” ที่ยังต้องตามดูดังที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อในวันนี้…    

ได้มีการหยิบยกกรณี “กัญชาในต่างประเทศ”…

นำมา “เปรียบเทียบให้เป็นกรณีศึกษาของไทย”

ทั้งนี้ ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนไว้บนเวทีสัมมนาวิชาการหัวข้อ “กัญชา-กัญชง ใช้อย่างไรถึงปลอดภัยได้ประโยชน์” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยทาง ศ.ดร.จิตรลดา ได้เผยถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับ “การใช้ประโยชน์จากกัญชาของคนไทย” ไว้ว่า… คนไทยนิยมใช้ประโยชน์จากกัญชามากกว่ากัญชง โดยเฉพาะนำมาใช้ในรูปของ อาหาร เครื่องดื่ม ขณะที่ในรูปของ ผลิตภัณฑ์ นั้นจะ นิยมนำมาทำในรูปของ “ผงกัญชา” และ “น้ำมันกัญชา” มากที่สุด …นี่คือผลศึกษาที่มีการนำมาเผย-นำมาสะท้อนไว้…

ฉายภาพ “รูปแบบการใช้ประโยชน์จากกัญชา”

ขณะที่ในเรื่องของกฎหมายนั้น ผอ.ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ ได้มีการนำเอา “กรณีในต่างประเทศ” อย่าง “กฎหมายควบคุมกัญชา” ของ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา มาเปรียบเทียบเพื่อเป็น “กรณีศึกษาของไทย” โดย ศ.ดร.จิตรลดา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “กฎหมายกัญชาของรัฐโคโลราโด” ไว้ว่า… กฎหมายกัญชาของรัฐดังกล่าวของสหรัฐอเมริกานั้น อนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้จำนวนไม่เกิน 6 ต้น โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ “มีเงื่อนไข” ไว้ว่า… ภายในบ้านหรือสถานที่ที่จะปลูกกัญชานั้น ต้องไม่มีเยาวชน หรือไม่มีผู้ที่อายุต่ำกว่า 21 ปี อาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกกัญชา

ส่วน การจำหน่ายกัญชา นั้น กรณีนี้ทาง ศ.ดร.จิตรลดา ผอ.ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ ได้ระบุไว้ว่า… กฎหมายกัญชาของรัฐโคโลราโด ไม่อนุญาตให้ผู้ปลูกขายกัญชาเอง แต่ต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้จำหน่าย ดังนั้น ใครที่ปลูกกัญชาจะไม่สามารถขายต่อให้คนอื่นได้ถ้าหากไม่ได้รับอนุญาต ในขณะที่ ผู้ซื้อกัญชา ตามกฎหมายของรัฐโคโลราโด ก็ได้มีการกำหนดว่า ผู้ที่จะซื้อกัญชาได้จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 21 ปี และ ครอบครองกัญชาได้แค่ครั้งละ 1 ออนซ์ เท่านั้น

นี่เป็น “ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา” ที่รัฐโคโลราโด

ที่บางข้อนั้นมีส่วนละม้าย “คล้ายแนวคิดของไทย”

จากมุมกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา…ต่อที่ “เสียงสะท้อนของฝ่ายกฎหมายควบคุมยาเสพติดในไทย” โดยการสะท้อนเรื่องนี้ ทาง รัฐพล ตันติอนุพงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด ป.ป.ส. ระบุไว้บนเวทีเดียวกันว่า… ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะผลักดันทำให้ “กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ” เป็นการสร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แต่ส่วนตัวก็ยังมี “ข้อกังวล” ในบางเรื่องอยู่มาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับ “การเข้าถึงกัญชา” ซึ่งหากมีมาตรการควบคุมที่ไม่ดีพอ ก็อาจจะเกิดการนำไป “ใช้ในทางที่ผิด” ได้

พร้อมกันนี้ยังมีการระบุไว้ว่า… มาตรฐานการควบคุมจะต้องรัดกุมเพียงพอที่จะดูแลมาตรฐานได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งหากกระบวนการผลิตไม่มีมาตรฐานอาจส่งผลเสียมากกว่าจะได้ประโยชน์จากกัญชา โดยเฉพาะ “มาตรฐานแหล่งผลิต” ที่หากไม่ควบคุมดูแลอาจเกิด “การปนเปื้อนของสารพิษ” ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้กัญชาได้ เพราะธรรมชาติของพืชกัญชา-กัญชง จะดูดสารโลหะหนักได้เก่ง ซึ่งถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีสารพิษเหล่านี้ก็จะเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย

เป็น “ข้อกังวล” อีกข้อหนึ่งเกี่ยวกับ “กัญชา”

และสำหรับ “มุมการใช้ประโยชน์” ในรูปของ “อาหาร-ผลิตภัณฑ์” กรณีนี้ก็มีประเด็นจาก อนงค์ ไพรจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ที่นอกจากกัญชาก็ยังมีกรณี “กัญชง” ด้วย โดยได้มีการสะท้อนไว้ว่า… วงการอุตสาหกรรมอาหารตอนนี้กำลังให้ความสนใจ “เมล็ดกัญชง” เนื่องจากพบว่า อุดมด้วยสารโอเมก้า 3, 6, 9 ทำให้ในวงการผู้ผลิตอาหารมองว่า… สามารถนำมาใช้ประโยชน์และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ อาทิ ทำเป็นซีเรียลสแน็คบาร์ หรือนำน้ำมันที่สกัดจากเมล็ดกัญชงมาทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ หรือแม้แต่นำมาแปรรูปทำเป็น โปรตีนพาวเดอร์ หรือ แป้งโปรตีน ได้

“นอกจากในรูปของชาและสแน็คแล้ว ที่กำลังนิยมก็คือนำมาทำเป็นผงนัวเพื่อใช้เป็นเครื่องปรุงอาหาร ซึ่งสำหรับ การใช้ประโยชน์กัญชา และกัญชง ในรูปของอาหารนี้ เชื่อว่าถ้าสนับสนุนกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการทำตลาดในไทยและต่างประเทศ ก็จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ไทย ได้อย่างมาก” …ผอ.สถาบันอาหาร ระบุไว้ ทั้งกัญชง-กัญชา

กับการที่ไทย ปลดล็อกกัญชา” นี่ ข้อดีมีแน่ ๆ”

หากแต่ ข้อกังวล” นั้น ก็จำเป็นจะต้องสนใจ”

ก็ รอดูกันกับกฎหมายที่จะมีออกมาคุม??”.