สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธาน มีมติรับร่าง Roadmap แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 65-68 และร่างนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางสำคัญช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินและเศรษฐกิจของไทย ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน แข่งขันได้ในระดับสากล

Roadmap แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 65-68

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยปี 63 ผู้โดยสารลดลงจากปี 62 ถึง 64.7% ปริมาณเที่ยวบินลดลง 53.1% ส่วนปี 64 ผู้โดยสารลดลงจากปี 63 ถึง 64.1% ปริมาณเที่ยวบินลดลง 48.5% ส่งผลให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินลดลง 20.88% และรายรับในการประกอบการการบินลดลงมากถึง 70.96%

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประมาณการฟื้นตัวของผู้โดยสาร ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ว่า อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่สภาวะปกติใน 2-3 ปี โดยมีกรอบแนวคิดและแผนปฏิบัติมุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการบิน อยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืน

ในปี 65 มีเป้าหมายระยะ Quick-win ตามมาตรการ “อยู่รอด” คือ อุตสาหกรรมการบินมีความพร้อมสำหรับเปิดทำการบินเต็มรูปแบบ อาทิ ผู้ประกอบการการบินสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในช่วงที่ยังคงมีการระบาด มีกลยุทธ์เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวก พัฒนาความร่วมมือขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อกระตุ้นความต้องการในการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ พร้อมตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ประกอบการ ให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน

ปี 66-68 เป็นเป้าหมายระยะกลางตามมาตรการ “เข้มแข็ง และ ยั่งยืน” ประเทศไทยมีความพร้อมของอุตสาหกรรมการบินที่จะรองรับการจราจรทางอากาศเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติหรือเทียบเท่ากับปี 62 โดยในปี 68 จะมีผู้โดยสารสูงถึง 165 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 1.07 ล้านเที่ยวบิน มีเป้าหมาย อาทิ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยระบบกำกับดูแลทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการเดินทางแบบ New Normal รวมถึงพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน โดยการพัฒนาสถาบันฝึกอบรมให้เป็นที่ยอมรับ และยกระดับมาตรฐานใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ของไทยให้ทัดเทียมสากล เป็นต้น

ส่วนร่างนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ มีรายละเอียดหลัก 3 ด้าน คือ

1. ด้านเศรษฐกิจการบิน มีเป้าหมายหลัก อาทิ พัฒนาระบบบริหารนโยบายเศรษฐกิจการบินพลเรือน ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้ประกอบการการบินของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และเชื่อมโยงโครงข่ายเที่ยวบิน เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค พัฒนาให้ประชาชนเข้าถึงการบริการขนส่งทางอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียมในอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม พร้อมพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุม

2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งหวังเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดสรรและจัดการห้วงอากาศอย่างทั่วถึง และคุ้มค่า พัฒนาระบบการเดินอากาศอย่างเชื่อมโยง พัฒนาให้เกิดระบบท่าอากาศยานอัจฉริยะที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมถึงพัฒนาทุนมนุษย์ และทุนปัญญาที่สอดคล้องกับมาตรฐาน และความต้องการในปัจจุบัน และอนาคตรวมถึงสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

3. ด้านมาตรฐานการบิน เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมการบิน เช่น ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบิน ลดผลกระทบทางเสียงจากอากาศยาน จัดทำแผนนิรภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติให้มีประสิทธิผล มีการระบุและจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่จะช่วยส่งเสริมความปลอดภัย และประสิทธิภาพของระบบการบินของประเทศ มีการระบุและจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่จะช่วยส่งเสริมความปลอดภัย และประสิทธิภาพของระบบการบินของประเทศ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

รมว. ศักดิ์สยาม ระบุว่า ร่างดังกล่าวจะจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริงต่อไป ถือเป็นนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศที่เป็นรูปธรรมฉบับแรกของไทยโดยกพท. จะส่งร่างฯ ให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็น ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ได้สั่งการกพท. หารือร่วมกับสนามบิน สายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับจำนวนผู้โดยสารทั้งเที่ยวบินภายในประเทศ และระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการการผ่อนคลายการเข้าประเทศของรัฐบาล โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ข้อมูล IATA คาดการณ์ว่าภายในปี 65 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 22 ล้านคน

ภาพความหนาแน่นที่สนามบินสุวรรณภูมิล่าสุด ที่ผู้โดยสารรอเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อเช็กอินหน้าเคาร์เตอร์บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เพราะเจ้าหน้าที่ไม่พอ ทำให้ กพท. สั่งการทุกสายการบินและสนามบินให้ปรับทบทวนแผนและการแก้ไขปัญหาการเดินทาง โดยต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อมก่อนให้บริการผู้โดยสาร รวมถึงให้สายการบินพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร โดยมิให้ปฏิเสธผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้า

นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)

ขณะที่นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้ยกระดับบริการโดยเปิดใช้งานเคาน์เตอร์เช็กอินของสายการบินครบทั้ง 318 เคาน์เตอร์ พร้อมเครื่องเช็คอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) 196 เครื่อง เครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) 42 เครื่อง รองรับการให้บริการเช็กอินได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งหมด 556 จุด บริการอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และยังให้สายการบินเปิดเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารและบริการผู้โดยสารได้ล่วงหน้า 3 ชม. ก่อนเที่ยวบินออกจากเดิม 2 ชม.

บ๊ายบายโควิดธุรกิจการบินของประเทศไทยจะกลับมาสดใสอีกครั้ง

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง