เหตุการณ์รถยนต์ BMW Z4 เสียหลักพุ่งข้ามเกาะกลางถนนชนกับรถยนต์อีกคัน บริเวณทางลงเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 1 คน
              
สภาพการชนที่พบความเสียหายรุนแรงถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นเมื่อมีภาพจากกล้องหน้ารถคันอื่นปรากฏให้เห็นความเร็วและลักษณะการขับขี่ที่อันตรายทั้งที่มีฝนตก ย้อนไปถึงการไลฟ์สดของหญิงสาวในรถคู่กรณีที่ส่งเสียงเชียร์ให้ใช้ความเร็วระหว่างเดินทาง
              
ท่ามกลางความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้สูญเปล่า นพ.ธนะพงศ์  จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มองว่าอุบัติเหตุรุนแรงครั้งนี้ควรนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง “เชิงระบบ” ให้มีข้อกำหนดพื้นฐานเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลในที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะการตรวจสอบความเร็วที่เป็นหลักฐานสำคัญในคดีอุบัติเหตุ แต่ที่ผ่านมากระบวนการเก็บข้อมูลเหล่านี้ยังไม่รัดกุม ส่วนหนึ่งมาจากไม่ได้ระบุเป็นข้อปฏิบัติชัดเจนกับเจ้าหน้าที่ เช่น หากมีกล้องหน้ารถกระบวนการหลังเกิดเหตุต้องกำหนดชัดเจนว่าผู้ใดมีหน้าที่ต้องเก็บซิมการ์ดกล้อง หากมีกล้องหน้ารถต้องเอามาประกอบหลักฐานด้วย

อย่างไรก็ตาม รถยนต์รุ่นใหม่ส่วนใหญ่มีการติดตั้งอุปกรณ์ Event Data Recorder หรือ EDR บริเวณพวงมาลัยรถ ซึ่งเป็นอุปกรณ์คล้ายกล่องดำทำหน้าที่บันทึกข้อมูลสำคัญอย่างการใช้ความเร็วรถ การทำงานของถุงลมนิรภัย สามารถใช้เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันความเร็วขณะชนที่แม่นยำกว่าเข็มไมล์ ซึ่งไม่สะท้อนความเร็วที่แท้จริงจังหวะการชน 

การตรวจอุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็น “ตัวช่วย” หาข้อยุติที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งควรใช้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานตรวจสอบความเร็ว แต่เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่บริษัทรถใช้ประโยชน์เป็นหลักและไม่สามารถถอดเองได้ ดังนั้น ควรกำหนดเพิ่มเติมกรณีรถที่มี EDR บริษัทต้องให้ความร่วมมือถอดอุปกรณ์ใช้ประมวลผล ไม่สามารถอ้างเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อเลี่ยงการเปิดเผยได้“เมื่อเกิดเหตุ EDR คือตัวช่วยให้ความเร็วมีข้อยุติเป็นวิทยาศาสตร์ และยังส่งผลกระทบกับการดำเนินคดีอาญาที่อาจคลุมเครือ

ให้สามารถใช้ฟันธงเรื่องการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดหรือไม่ได้”

ผู้จัดการ ศวปถ. ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงการตรวจสอบความเร็วว่าสำคัญมากในคดีอุบัติเหตุเพราะไม่เพียงพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญา แต่ยังส่งผลถึง “การฟ้องแพ่ง” ของผู้เสียหายอาจลำบากมาขึ้นหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือประมาทจริงๆ ยิ่งอุบัติเหตุที่คู่กรณีเสียชีวิตต้องอาศัยคดีอาญาหลักเพื่อฟ้องแพ่งเรียกความรับผิดชอบเพิ่มเติมนอกเหนือการเยียวยาจากระบบประกันปกติ

“การฟ้องแพ่งส่วนใหญ่ศาลจะยึดคดีอาญาเป็นหลัก เช่น คดีอาญาสรุปเป็นคดีประมาท ไม่ได้ขับเร็ว ตรงนี้ฟ้องแพ่งลำบากเพราะกลายเป็นเหตุสุดวิสัย จุดสำคัญในคดีอาญาแม้คู่กรณีเสียชีวิต แต่หากสรุปว่าเป็นการขับเร็วเกินกฎหมายกำหนดจะเป็นช่องทางให้การฟ้องแพ่งมีน้ำหนักมากขึ้น”

การฟ้องแพ่งมีอีกจุดน่าสนใจเพราะจะเป็นช่องให้พนักงานสอบสวนโยงความรับผิดชอบในลักษณะห่วงโซ่แม้คู่กรณีเสียชีวิต แต่ความรับผิดชอบอาจเป็นครอบครัวหรือผู้เกี่ยวข้องได้บางกรณี ยกตัวอย่าง กรณีอุบัติเหตุแพรวา แม้คดียุติที่ความผิดขับประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่เมื่อฟ้องแพ่งก็เริ่มโยงความรับผิดชอบไปถึงผู้ปกครองและเจ้าของรถ

“ซิ่งเลย” ประโยคผ่านไลฟ์ขณะนั่งในรถคันก่อเหตุเข้าข่ายยุยงหรือไม่ เป็นอีกประเด็นที่อยากเห็นความพยายามจัดการเพื่อให้สังคมตระหนักว่าเป็นเรื่องไม่ควรและสามารถเชื่อมโยงความผิดได้ แม้การยุยงไม่ได้ส่งผลให้เกิดเหตุในทันที แต่ในเชิงระบบอยากให้การทำคดีครั้งนี้ส่งสัญญาณให้สาธารณชนรู้ว่าควรระมัดระวังและมีสติ  

ทุกวันนี้การพิสูจน์หลักฐานที่โซเชียลช่วยกันถามหา ถือเป็นเรื่องดีที่สังคมออกมาช่วยกัน แต่หากมองเชิงระบบแบบถอดบทเรียนคือ  ทำอย่างไรให้การสูญเสียบนท้องถนนมีการพิสูจน์หลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ชัดเจน ซึ่งบางครั้งอาจต้องมีตัวช่วยให้ฝั่งผู้สูญเสียเห็นช่องทางที่นำไปสู่การพิสูจน์ได้

ในความสูญเสียกรณีใหญ่ๆ ต้องทำให้สังคมได้การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นด้วย

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน
[email protected]