โยเซฟ ชูทซ์ หรือก่อนหน้านี้มีการระบุชื่อของเขาเพียง ‘โยเซฟ เอส.’ คืออดีตการ์ดหน่วย SS ของนาซี และจำเลยที่มีอายุมากที่สุด ในคดีเอาผิดผู้คุมค่ายกักกันชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ชูทซ์ ในวัย 101 ปี ต้องขึ้นศาลเพื่อรับการไต่สวนและตัดสินโทษตามข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในคดีฆาตกรรมหมู่ชาวยิว ระหว่างที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเรือนจำในค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซนในเมืองโอราเนียนบวร์ก ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ระหว่าง ค.ศ. 1942-1945 

ผู้พิพากษา อูโด เลคเทอร์มันน์ แห่งศาลประจำเมืองนอยรุพพิน รัฐบรันเดินบวร์ก ตัดสินให้ ชูทซ์ มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา

ชูทซ์ ซึ่งมักใช้แฟ้มเอกสารปิดบังใบหน้าระหว่างรับฟังการไต่สวนและระหว่างการปรากฏตัวต่อหน้ากล้อง อ้างว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาไม่เคยกระทำผิดและไม่เคยรู้เลยว่ามีการฆาตกรรมที่น่าสยองขวัญเกิดขึ้นภายในค่ายกักกันที่เขาดูแลอยู่

แต่ฝ่ายอัยการรัฐกล่าวว่า ชูทซ์ รู้ดีและมีเจตนาที่จะเข้าร่วมการสังหารหมู่นักโทษจำนวน 3,518 คน ในค่ายกักกันดังกล่าว จึงเรียกร้องให้เขารับโทษจำคุก 5 ปี

ระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ชูทซ์ ให้การว่า เขาทำงานเป็นลูกจ้างในฟาร์มแถวเมืองพาเซอวอล์ค ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ในระหว่างที่มีการสังหารนักโทษ ซึ่งเขาตกเป็นผู้ต้องหา

อย่างไรก็ตาม ศาลพิจารณาแล้วพบว่ามีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเขาเคยทำงานอยู่ในค่ายกักกันจริงในระหว่างปี ค.ศ. 1942-1945 และยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคนาซี หน่วยกิจการพลเรือน ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุ 21 ปี

ศาลตัดสินให้ลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 5 ปี ตามข้อเสนอของฝั่งอัยการ แต่เนื่องจากวัยและสุขภาพที่ย่ำแย่ของเขา ก็เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะไม่ต้องเข้ารับโทษในเรือนจำจริง ๆ

ฝั่งอัยการดำเนินการเอาผิดกับ ชูทซ์ โดยอาศัยการอ้างอิงจากเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับหน่วย SS ของนาซี ซึ่งมีชื่อของเขา รวมทั้งวันเดือนปีเกิดและสถานที่เกิดอยู่ในบัญชีรายชื่อของหน่วย ประกอบกับเอกสารอื่น ๆ อีกหลายฉบับ

การพิจารณาคดีของ ชูทซ์ กินเวลายาวนานหลายเดือน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสุขภาพของอดีตการ์ดวัยกว่าศตวรรษ ไม่เอื้ออำนวย เขาสามารถเข้ารับฟังการไต่สวนได้เพียงวันละ 2 ชม. ครึ่ง นอกจากนี้ยังต้องเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปหลายครั้ง เมื่อเขาล้มป่วยหรือมีปัญหาทางสุขภาพ

แม้ว่าจะมีการตัดสินคดีไปแล้ว แต่ทางทนายความของ ชูทซ์ ยืนยันตั้งแต่ก่อนฟังคำตัดสินแล้วว่า ถ้าหากศาลตัดสินให้ลูกความของเขาผิดจริง ก็จะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซน ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1936 อยู่ทางเหนือของกรุงเบอร์ลิน นับเป็นค่ายกักกันแห่งใหม่และแห่งแรกที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มอบหมายอำนาจสั่งการอย่างเต็มที่ให้หน่วย SS ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘หน่วยพิฆาตแห่งนาซี’ ในการบริหารจัดการระบบในค่าย

มีนักโทษถูกคุมขังที่ค่ายแห่งมากกว่า 200,000 คน ระหว่างปี ค.ศ. 1936-1945 ในจำนวนเหล่านี้ มีนักโทษนับหมื่นคนที่เสียชีวิตจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การอดอาหาร โดนใช้แรงงานอย่างทารุณ ป่วยตายและอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการนำตัวนักโทษไปทดลองทางการแพทย์และใช้เป็นเหยื่อในการฝึกฝนกลยุทธ์การสังหารของหน่วย SS ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การยิงเป้า แขวนคอ และรมแก๊สพิษ

ไม่มีใครสามารถยืนยันจำนวนของผู้ตายที่แท้จริงได้ โดยมีการประเมินจำนวนสูงสุดไว้ที่ 100,000 คน แต่จากการสืบค้นหลักฐานทางวิชาการแล้ว สันนิษฐานว่าจำนวนที่แท้จริงน่าจะอยู่ระหว่าง 40,000-50,000 คน

การตัดสินโทษในคดีของ ชูทซ์ ครั้งนี้ เป็นไปตามโครงการเอาผิดผู้ที่มีส่วนร่วม หรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินงานในค่ายกักกันชาวยิวให้ได้ทุกคน เท่าที่ยังหาเจอและยังมีชีวิตอยู่ โดยใช้ข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรมหมู่ในค่ายกักกัน

ค่ายซัคเซนเฮาเซน ได้รับการปลดปล่อยในเดือน เม.ย. ปีค.ศ. 1945 โดยกองกำลังทหารสหภาพโซเวียต และหลังจากนั้น ก็นำพื้นที่ค่ายมาปรับใช้เป็นเรือนจำและค่ายกักกันของตัวเอง.

แหล่งข้อมูล : aljazeera.com

เครดิตภาพ : Getty Images