โดยต้นสายปลายเหตุในการพิจารณาเรื่องนี้ เริ่มต้นจากทาง ก.ล.ต. ได้รับรายงานพบเหตุต้องสงสัยว่าอาจมีการ สร้างปริมาณเทียม?? ในการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล หรือ “คริปโตเคอร์เรนซี” ของศูนย์ซื้อขายชื่อดังอันดับต้น ๆ จนเป็นที่มาของการพิจารณาดังกล่าว…

เรื่องนี้ “มิใช่เรื่องเล็กของแวดวงเงินดิจิทัลในไทย”

“ข้อเท็จจริง?-บทสรุป?” จึงสนใจติดตามกันมาก…

กับกรณีดังกล่าว…ก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเกี่ยวกับ “คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)” นั้น “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจ โดย ผศ.ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ผศ.ดร.ภัทเรก ศรชาติ นักวิชาการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ที่ได้จัดทำบทความเรื่องนี้เผยแพร่ไว้ รวมถึงผ่านทาง เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้มีการอธิบายไว้เกี่ยวกับ “คริปโตเคอร์เรนซี” รวมถึง “ข้อดี-ข้อเสีย” ด้วย ซึ่งน่าพิจารณา…

ทางนักวิชาการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ อธิบายไว้ว่า… “คริปโตเคอร์เรนซี” นั้นเป็น “สกุลเงินดิจิทัล” ที่ ใช้ “เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology)” ในการบันทึกข้อมูลธุรกรรม (Transaction Data) ที่เกิดขึ้น โดยความสำคัญของบล็อกเชนที่วงการคริปโตเคอร์เรนซีได้นำมาใช้นั้น ถือเป็นการปฏิวัติการบันทึกข้อมูลแบบเดิม ๆ ที่อาศัยคนกลางที่มีความน่าเชื่อถือในการบันทึกข้อมูลแต่ละชุดข้อมูลที่เป็นอิสระต่อกัน โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางแบบเดิม ๆ ที่อาจจะไว้ใจไม่ได้?? ซึ่งเทคโนโลยีของเครือข่ายบล็อกเชนจะสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับคนทั่วโลก ผ่านกระบวนการสร้างด้วย “ลายเซ็นดิจิทัล”

สร้าง “ห่วงโซ่” ที่ “ผูกชุดข้อมูลเอาไว้แน่นหนา”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการเก็บข้อมูล จนทำให้ได้ “ชุดข้อมูลที่แข็งแกร่ง” ที่ทุกคนในโลกเชื่อถือได้อย่างสมบูรณ์ แต่ “สำหรับแวดวงคริปโตเคอร์เรนซี” นั้น ทางคณะคณาจารย์ผู้จัดทำบทความดังกล่าวมองว่า… เทคโนโลยีที่มี “ข้อดีมาก” นี้ เมื่อใช้ในแวดวงคริปโตเคอร์เรนซี ก็ยัง “มีจุดอ่อน-มีช่องโหว่” ที่ถ้าหาก ใช้ไม่ระวังหรือไม่ถูกต้อง ก็สามารถสร้างผลเสียรุนแรงให้ในแบบที่อาจจะคาดไม่ถึงได้ เช่นกัน …นี่เป็นการเตือนที่น่าพิจารณา

อนึ่ง ในบทความดังกล่าวยังชี้ไว้ว่า… “ประโยชน์ของคริปโตเคอร์เรนซี” ในปัจจุบันนั้น ที่ถูกกล่าวถึงค่อนข้างมากก็คือ ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น จากจุดแข็งของเทคโนโลยีบล็อกเชน อีกทั้ง ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมยังถูกกว่า เนื่องจากไม่ต้องทำผ่านสถาบันการเงินที่อาจมีการคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง นอกจากนี้ ประโยชน์อีกประการหนึ่ง ที่ก็เป็น “เหตุผล-ปัจจัย” ส่งผลทำให้ผู้คนจำนวนมาก “ต้องเล่นคริปโตเคอร์เรนซี” จนเกิด “เทรนด์ฟีเวอร์” ที่มาจาก “ความเชื่อ” ก็คือ… มีโอกาสได้ผลตอบแทนระดับสูง เมื่อเทียบกับการลงทุนรูปแบบเดิม โดยมีการมองว่า…“คริปโตเคอร์เรนซีเป็นสกุลเงินแห่งอนาคต”

แน่นอนว่า “ผลตอบแทนสูง” ก็คือ “ปัจจัยดึงดูดใจ”

แต่ทว่า…ประโยชน์ข้างต้นดังที่ระบุมาอาจจะไม่ใช่ประโยชน์จริง ๆ ของคริปโตเคอร์เรนซี เพราะในแง่ “ประโยชน์ความปลอดภัย” นั้น… ในปัจจุบันธุรกรรมที่ทำผ่านสถาบันการเงินก็มีความปลอดภัยในระดับที่สูง แถมต้องถูกกำกับดูแลจากหน่วยงานตรวจสอบของรัฐอีกทางหนึ่งอยู่แล้ว จึงมีความเข้มงวดรัดกุมมากดีอยู่แล้ว ในขณะที่ ธุรกรรมการเงินที่ใช้คริปโตเคอร์เรนซีแทบจะตรวจสอบไม่ได้เลย ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้คริปโตเคอร์เรนซีอยู่บ่อย ๆ…

ส่วนในแง่ “ประโยชน์การลงทุน” ที่มีการย้ำคือ… “คริปโตเคอร์เรนซีไม่ใช่เครื่องมือรวยทางลัด“ เพราะแม้การลงทุนผ่านทางคริปโตเคอร์เรนซีจะได้รับผลตอบแทนระดับสูง แต่ก็ มีความผันผวนสูงมาก ตามมาด้วยเช่นกัน ที่สำคัญ ไม่มีอะไรมายืนยันหรือรองรับว่าราคาคริปโตเคอร์เรนซีจะเพิ่มขึ้นไปตลอด?? อย่างไรก็ดี แต่ที่จริงประโยชน์ในด้านการลงทุนของคริปโตเคอร์เรนซีที่พอจะน่าเชื่อถืออยู่บ้างก็ยังมีคือ ประโยชน์ในด้านการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า…  คริปโตเคอร์เรนซีช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงได้ …เหล่านี้เป็น “ข้อดี-ข้อเสีย” ของคริปโตเคอร์เรนซี

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายบทความที่จัดทำโดยคณะคณาจารย์ดังกล่าว มีการระบุไว้ด้วยว่า… มีเรื่องที่โลกยังไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับ “คริปโตเคอร์เรนซี” ซึ่งจำเป็นต้องค่อย ๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ ศึกษา และต้องชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อด้อยให้ดี ๆ ซึ่ง “สิ่งที่อันตรายที่สุด” ของคริปโตเคอร์เรนซี นั่นก็คือการที่มีผู้คนจำนวนมากเข้ามา “เล่นคริปโตเคอร์เรนซีโดยไม่มีความชำนาญ” จนคล้ายกับเด็กคนหนึ่งที่นำเอาของมีคมมาวิ่งเล่นกับเพื่อน จนทำให้ “คริปโตเคอร์เรนซีกลายเป็นดาบแสนคม” มิใช่แค่เพียงดาบสองคมเท่านั้น!!

ขณะที่อันตรายอีกประการหนึ่งของคริปโตเคอร์เรนซี ก็คือจาก “ความเชื่อผิด ๆ” ที่หลายคนมักจะคิดไปเองว่า… “จะเก็งกำไรในการชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีได้“ และคาดหวังจะใช้เป็นวิธีรวยทางลัด ซึ่งงานวิจัยด้านพฤติกรรมที่ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้ที่ชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีนั้นพบว่า… ในเชิงจิตวิทยา มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่เหมือนกับรูปแบบของคนที่เสพติดการเล่นพนันออนไลน์ หรือคล้ายกับนักเก็งกำไรรายวัน (Day Trader)ที่ “มักคิดไปเองว่าสามารถควบคุมผลลัพธ์ได้”…

ที่ทำให้ “ประมาท”…จน “เกิดความผิดพลาด”

ทำให้ “เกิดอันตรายจากการใช้ดาบแสนคม”

“ดาบแสนคมบาดเลือดโชก!!-เลือดท่วม!!”.