ปี 2565 นี้เป็นปีที่ไทยและอินเดียมีสัมพันธภาพทางการทูตครบรอบ 75 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2490 ที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต สัมพันธไมตรีของประเทศทั้งสองเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความแน่นแฟ้นเป็นลำดับด้วยความใกล้ชิดและความจริงใจที่มีต่อกัน เนื่องจากมีรากฐานมาจากความเชื่อมโยงทางศาสนาและวัฒนธรรมของประชาชนทั้งสองประเทศ

ในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและอินเดีย สถานเอกอัครราชทูตอินเดียและกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ของประชาชนทั้งสองประเทศถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มีต่อกัน โดยเริ่มกิจกรรมมาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2565 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 798 ชิ้น จากชาวอินเดียและชาวไทย คณะกรรมการร่วมทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้าประกวดโดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความสวยงาม ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ที่สะท้อนถึงโอกาสสำคัญในครั้งนี้

พิธีเปิดตราสัญลักษณ์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ และนางสุจิตรา ทุไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีร่วมกัน ซึ่งจัดขึ้นที่เจริญนครฮอลล์ ไอคอนสยาม ตราสัญลักษณ์ที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ผ้าขาวม้า” ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองของไทย และ “ผ้าส่าหรี” ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองของอินเดีย ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ถูกนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆตลอดทั้งปี ซึ่งมีการจัดกิจกรรมทั้งในไทยและอินเดียเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งทางด้านการเมือง การค้า การลงทุน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของประชาชนทั้งสองประเทศ

สถานเอกอัครราชทูตอินเดีย มูลนิธิกากัน มาลิค ชมรมไตรรัตนภูมิ คุณแอน มิตรชัย และเครือข่ายองค์กรชาวพุทธทั้งในและต่างประเทศ จะร่วมกันจัดกิจกรรมนิทรรศการ “เปิดเส้นทางสังเวชนียสถานตามรอยพระพุทธบาท ดินแดนพุทธภูมิ” ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2565 ณ คิว สเตเดี้ยม ชั้น M ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอินเดีย

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565 เวลา 14.00-15.00 น. อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิ​ศึกษา​และ​เผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจากคณะกรรมการจัดงานฯ ให้เป็นวิทยากรสนทนาธรรมไทย-ฮินดี ร่วมกับคุณสุขิน เดอร์ ปาล ซิงห์ นฤหล้า ในหัวข้อเรื่อง “การฟื้นคืนของพระพุทธศาสนาในอินเดีย ท่ามกลางบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง” เป็นโอกาสอันดียิ่งที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้ฟังการสนทนาธรรมที่ตรงตามพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก ประการสำคัญจะได้รู้ถึงสิ่งที่มีจริงหรือธรรมะที่มีจริง (สัจธรรม) ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีสามัญลักษณะ 3 ประการ (ไตรลักษณ์)​ ได้แก่ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) ​เป็นทุกข์ (ทุกขัง)​ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา)​ ตามที่พระบรมศาสาดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงตลอด 45 พรรษา ในครั้งพุทธกาล

นอกจากนี้แล้ว มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา จะมีการออกบูธเพื่อแนะนำความรู้พระพุทธศาสนาเถรวาท และมีการแจกหนังสือธรรมะของมูลนิธิฯ แก่ผู้เข้าร่วมงาน ณ บูธลำดับที่ 4 บริเวณใกล้ทางเข้า คิว สเตเดี้ยม ผู้ที่สนใจสามารถแวะเยี่ยมชมบูธของมูลนิธิฯ และขอรับหนังสือธรรมะได้ตลอดทั้งวัน

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม

อ่านเพิ่มเติม :
มูลนิธิศึกษา-เผยแพร่พระพุทธศาสนากับแดนพุทธภูมิ
มูลนิธิศึกษา-เผยแพร่พระพุทธศาสนากับแดนพุทธภูมิ 2
มูลนิธิศึกษา-เผยแพร่พระพุทธศาสนากับแดนพุทธภูมิ 3
มูลนิธิศึกษา-เผยแพร่พระพุทธศาสนากับแดนพุทธภูมิ 4
มูลนิธิศึกษา-เผยแพร่พระพุทธศาสนากับแดนพุทธภูมิ 5
ประดิษฐานพระธรรมครั้งประวัติศาสตร์ หวนสู่ชมพูทวีป